ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
แนะ 3 สไตล์การเลี้ยงลูกให้ดี-มีสุขรับปีพ.ศ.ใหม่
แนะ 3 สไตล์การเลี้ยงลูกให้ดี-มีสุขรับปีพ.ศ.ใหม่ เมื่อพูดถึงการเลี้ยงลูกของครอบครัวไทย พ่อแม่แต่ละท่านมีสไตล์การเลี้ยงลูกที่ไม่เหมือนกัน ยิ่งในปัจจุบันมีวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกแบบตะวันตกเข้ามาด้วยแล้ว ทำให้พ่อแม่คนไทยยิ่งไม่ค่อยแน่ใจถึงแนวทางการเลี้ยงลูกในแบบที่ควรจะเป็น

ปัญหาที่เกิดขึ้น พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลบีเอ็นเอช สะท้อนถึงปัญหาการเลี้ยงลูกของพ่อแม่คนไทยผ่านทีมงาน Life & Family ว่า พ่อแม่คนไทยส่วนใหญ่มีสไตล์การเลี้ยงลูกแบบผสม คือ ตามใจ ยอม และเมื่อทนไม่ไหวถึงค่อยใช้กฎ หรือการบังคับต่าง ๆ ทำให้เด็กสับสน และไม่ค่อยเชื่อฟัง

"การเลี้ยงลูกแบบนี้ หมอว่าน่าเป็นห่วงนะ เพราะคุณกำลังทำให้เด็กงง แล้วแทนที่เด็กจะเชื่อฟัง กลับดื้อและไม่เชื่อฟัง นั่นเพราะคำพูดของพ่อแม่มีความศักดิ์สิทธิ์น้อยลง ซึ่งการทำให้ลูกอยู่ในกฎระเบียบวินัยต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แล้วแต่อารมณ์พ่อแม่ หรืออยากทำก็ค่อยทำ ซึ่งวินัยที่แท้จริง เด็กต้องเข้าใจกิจกรรมในแต่ละวันของเขาเป็นอย่างดี เช่น ตื่นเวลาไหน กินข้าวเวลาไหน พ่อแม่ต้องทำให้เกิด และทำให้ชินตั้งแต่เด็ก"

อย่างไรก็ดี คุณหมอท่านนี้บอกต่อไปว่า การเลี้ยงลูกแบ่งออกเป็น 2 มิติใหญ่ ๆ คือ ทำให้เด็กยิ้ม (มีความสุข) กับทำให้เด็กรู้สึกแย่ (ไม่มีความสุข)

"วิถีการเลี้ยงลูกแบ่งออกเป็น 2 มิติใหญ่ ๆ คือ การทำให้เด็กยิ้ม ไม่ว่าจะชม ใช้เวลาเล่นกับเขา และทำให้เขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับ และเป็นคนสำคัญในบ้าน เวลาบอกให้ทำอะไรเด็กก็จะเชื่อฟัง เรื่องแบบนี้ใครทำใครได้ เช่น ถ้าพ่อทำพ่อได้ แม่ทำแม่ได้ ในขณะที่ด้านลบ เป็นด้านที่เด็กไม่ค่อยชอบ ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ หรือข้อจำกัดต่าง ๆ รวมถึงการสั่งสอนมาก ๆ เด็กเขาไม่ชอบหรอก เพราะเขารู้สึกว่ากำลังถูกบีบอยู่" กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็กเผย

ดังนั้น สไตล์การเลี้ยงดูของพ่อแม่มีส่วนสำคัญต่อความรู้สึกของเด็ก ถ้าอยากเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นเด็กดี และมีความสุข คุณหมอได้แนะแนวทางไว้ดังต่อไปนี้


พ่อแม่หัวใจ "ประชาธิปไตย"
เป็นสไตล์พ่อแม่ที่ลูกส่วนใหญ่ชอบ เพราะมีการให้ความสำคัญกับกฎระเบียบ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการรับฟัง และชื่นชมเมื่อลูกทำในสิ่งที่ดี หรือให้กำลังใจเมื่อลูกทำผิดพลาดด้วย ที่สำคัญจะไม่เน้นตีหรือใช้อารมณ์รุนแรง แต่จะใช้วิธีการอธิบาย และให้เหตุผล ซึ่งพ่อแม่สไตล์นี้ มีงานวิจัยระบุว่า เด็กจะมีสุขภาพจิตดี ส่งผลให้การเรียนดีตามไปด้วย

ผิดกับ พ่อแม่เผด็จการ ที่มีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เยอะแยะเต็มไปหมด และไม่เคยใส่ใจความรู้สึกของลูกเลย สไตล์พ่อแม่แบบนี้ ทำให้เด็กเครียด และยากที่เด็กจะเข้าใจว่าพ่อแม่รัก และเป็นห่วงเขา ถึงแม้ในช่วงแรก ๆ เด็กจะเชื่อฟัง แต่ในระยะยาวเมื่อเขาเติบโตเป็นวัยรุ่น เด็กจะก้าวร้าว หรือบางคนอาจมีภาวะเงียบ และซึมเศร้าไปเลยก็ได้

"พ่อแม่หลาย ๆ ท่านมีความปรารถนาดี แต่ไม่เคยทำอีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านบวกเพื่อให้ลูกรู้สึกยิ้มเลย เวลาจะทำอะไรก็ผิดไปหมด และที่หนักไปกว่านั้นคือ พ่อแม่บางกลุ่มไม่เปิดโอกาสให้ถูกได้ถามเลย เช่น ถึงเวลาต้องนอนแล้ว แต่ลูกถามว่าทำไมต้องนอน พ่อแม่ก็บอกว่า ทำตามที่บอก ไม่ต้องถามได้ไหม ผลที่ตามมาคือ เด็กอาจเก็บกด ไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นเด็กหัวแข็ง และก้าวร้าวได้ ที่สำคัญความรักและความเข้าใจในตัวพ่อแม่ก็จะมีน้อยลงตามไปด้วย "


เป็นพ่อแม่ "มาตรฐานเดียว"
การเอามาตรฐานเด็กอีกคนไปเปรียบเทียบ หรือวัดกับเด็กอีกคน เป็นการทำลายคุณค่า และทำให้เด็กที่ถูกเปรียบเทียบรู้สึกแย่ได้ สมมติว่ามีลูก 2 คน คนหนึ่งเป็นเด็กผู้ชายวัย 5 ขวบ ซุกซนมาก ๆ ส่วนอีกคนเป็นผู้หญิงวัย 10 ขวบ เรียบร้อย ตั้งใจเรียน ซึ่งแน่นอนว่า คุณแม่ต้องชื่นชมลูกสาวมากกว่า เวลาเรียกให้ทำการบ้าน ลูกสาวมีความรับผิดชอบดี ทำเสร็จเรียบร้อย ในขณะที่ลูกชายกลับไม่สนใจ หรือทำได้นิด ๆ หน่อย ๆ ทำให้ลูกชายถูกดุ และถูกเปรียบเทียบกับพี่สาวอยู่เป็นประจำ เมื่อเป็นเช่นนี้อาจทำให้เด็กมองว่าเขาเป็นคนไม่ดี ส่งผลให้เป็นเด็กเกเร และไม่เชื่อมั่นในตัวเองไปเลยก็ได้

ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเปรียบเทียบ แต่ควรสังเกตว่า ลูกชายทำการบ้านได้มากแค่ไหน ถ้าทำได้มากสุด 5 นาทีก็ต้องยอมรับในความสามารถของลูก เช่น "แม่ชื่นใจจังเลยที่หนูตั้งใจทำการบ้านได้ 2 ข้อแล้ว เก่งจังเลย แต่การบ้านชิ้นนี้มันต้องใช้สมาธิ และทำนานกว่านี้นะจ๊ะ มาช่วยกันคิดสิว่าเราจะทำอย่างไรกันดี" ซึ่งการพูดด้วยน้ำเสียงให้กำลังใจ และทำให้เด็กเห็นว่า แม่ยอมรับ และไม่ได้มองว่าเขาเป็นเด็กเจ้าปัญหา เด็กก็จะรู้สึกผ่อนคลาย และมีกำลังใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี


ใช้ "สติ" สยบความดื้อ
เมื่อต้องรับมือกับเด็กดื้อ พ่อแม่หลาย ๆ ท่านมีวิธีจัดการที่แตกต่างกันออกไป แต่วิธีที่ไม่ควรใช้กับลูกคือ การทอดทิ้งเด็กให้อยู่คนเดียว หรือออกแนวตัดพ้อ เช่น "เลี้ยงลูกคนนี้มันเหนื่อยจริง ๆ เลย ไม่เลี้ยงมันแล้ว" ซึ่งคำพูดเหล่านี้ เป็นการยกภาระอันหนักอึ้งให้เด็กโดยไม่รู้ตัว ทำให้เด็กเกิดความเครียดได้

"เวลาลูกดื้อ พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ และทำให้เด็กรู้จักอารมณ์ของตัวเองด้วยการใช้น้ำเสียงอ่อนโยน ไม่ใช่เดินหนีไป หรือรอให้เด็กตามไปง้อ เช่น หนูกำลังร้องไห้อยู่นะ แม่คุยกับหนูไม่รู้เรื่องเลย แม่จะรอหนูเงียบก่อนนะจ๊ะ ใช้เสียงกลาง ๆ หลังจากนั้นก็เดินวนเวียนอยู่แถว ๆ นั้น ไม่ต้องเดินหนีไปไกล แล้วเชื่อเถอะว่า เด็กจะร้องไม่นาน เพราะเขาจะดูออกว่า แม่ควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่โมโห เมื่อแม่ไม่โมโห เด็กก็ไม่หวาดกลัว และค่อย ๆ หยุดร้องในที่สุด" กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็กให้แนวทาง


รู้แบบนี้แล้ว ปีใหม่นี้ มาปรับสไตล์การเลี้ยงลูกให้ดี และมีความสุขกันดีกว่าครับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก รพ.มนารมย์

ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/
Article Other
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
Sponsors
view all
Banner
view all