ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
ข่าวสาร
แบ่งปัน
เด็กอ้วน (Obese Children)


เด็กอ้วน (Obese Children) 

ภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) หรือโรคอ้วน (Obesity) หมายถึง การสะสมของไขมันที่ผิดปกติหรือมากเกินไป จนอาจก่อให้ เกิดผลเสียต่อร่างกาย มักเกิดจากการบริโภคอาหารมากเกินไป ควบคู่กับการขาดการเคลื่อนไหวร่างกายหรือกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญพลังงานที่ได้รับไปได้ทั้งหมด จึงเกิดเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และนำไปสู่ภาวะโรคอ้วนในที่สุด แม้ว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นไม่กี่กิโลกรัม อาจไม่มากพอที่จะเป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหากไม่เปลี่ยนวิธีการบริโภคหรือหันไปออกกำลังกายบ้าง ซึ่งโดยปกติแล้วการวัดค่าความอ้วนสามารถกระทำได้ด้วยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) แล้วจึงนำไปเปรียบเทียบกับตาราง BMI ตามอายุ หากเกินกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 ของเกณฑ์จะถือว่าอ้วน ซึ่งภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วนในเด็กส่วนใหญ่มักพบตั้งแต่ในช่วงอายุ 5 - 6 ขวบ และเด็กที่อ้วนมักมีแนวโน้มเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน นอกเสียจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและออกกำลังกายอย่างเคร่งครัดภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาระดับชาติมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 และยิ่งแพร่กระจายออกไปอย่างไร้ขอบเขตตามกระแสโลกาภิวัตน์ โดยในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนทั้งเด็กและผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากในช่วงปี ค.ศ.1980 และมีงานวิจัยกล่าวว่า 1 ใน 5 ของประชากรโลกกำลังประสบปัญหาโรคอ้วน น่าแปลกที่ภาวะโภชนาการนี้สามารถคำนวณและตรวจพบได้ง่ายเพราะเป็นภาวะผิดปกติทางกายภาพที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน แต่การดูแลรักษานั้นกลับทำได้ยากยิ่งนัก อย่างไรก็ตาม โรคอ้วนมิได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเด็กโดยตรงเพียงอย่างเดียว หากแต่มีส่วนต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจและสังคมของเด็กด้วย เด็กที่อ้วนส่วนใหญ่มักจะขาดความมั่นใจ นอกจากนี้โรคอ้วนในเด็กยังอาจโยงไปถึงปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ได้อีก ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงควรเข้าใจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรยอมรับว่า มีส่วนทำให้ลูกอ้วน แล้วเมื่อลูกอ้วน พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นลงมือแก้ไขหรือทางที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุของความอ้วน โดยการเป็นแบบอย่างที่ดีและปลูกฝังให้ลูกมีพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายที่เหมาะสมตั้งแต่ยังเล็กเพื่ออนาคตที่ดีของพวกเขาเอง


ปัญหาเด็กอ้วนมีลักษณะอย่างไร? 
ปัญหาโรคอ้วนในเด็กสามารถจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะคือ ปัญหาทางร่างกายและปัญหาทางจิตใจ ซึ่งต่างก็ส่งผลกระทบต่อเด็กได้อย่างรุนแรงไม่แพ้กัน
ปัญหาของโรคอ้วนที่ส่งผลต่อร่างกาย นอกจากทำให้เด็กเคลื่อนไหวไม่สะดวกแล้ว ยังเป็นปัจจัยการเกิดโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ อาทิเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes Mellitus Type 2) 
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) มะเร็ง (Cancer) โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) และโรคหอบหืด (Asthma) ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ปัญหาของโรคอ้วนที่ส่งผลทางจิตใจนั้น สามารถจำแนกได้ 2 กรณี คือ

กรณี่ที่ 1 ปัญหาอันเกิดจากปัจจัยภายใน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวเด็กเอง เช่น เด็กที่อ้วนมักรู้สึกไม่พอใจในรูปลักษณ์ของตน ส่งผลให้รู้สึกด้อยและขาดความมั่นใจ (Self-Esteem Issues) บ่อยครั้งมักมีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงมากกว่าเด็กที่น้ำหนักปกติ นอกจากนี้มักพบว่าเด็กอ้วนมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์แบบเก็บกดไว้ภายใน (Internalizing Problems) โดยเด็กจะมีอาการเครียด วิตกกังวล หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน (Eating Issues) เช่น โรคกินมากเกินไป (Binge Eating Disorder) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กยิ่งอ้วน แม้จะไม่อยากอ้วนก็ตาม รวมทั้งเด็กอาจมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์แบบแสดงออกตรงไปตรงมา (Externalizing Problems) เช่น เด็กอาจแสดงอาการก้าวร้าวหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ฉุนเฉียวได้

กรณี่ที่ 2 ปัญหาอันเกิดจากปัจจัยภายนอกซึ่งเป็นผลกระทบจากผู้อื่น ได้แก่ ครอบครัว เพื่อน รวมถึงค่านิยมของสังคม โดยเด็กมักรู้สึกแปลกแยกเมื่อเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อน และมักใส่ใจกับสิ่งที่ผู้อื่นกระทำต่อตนเอง อย่างไรก็ตามเด็กอ้วนมักได้รับการกระทำจากผู้อื่นในทางลบมากกว่าเด็กน้ำหนักปกติ เช่น เด็กอ้วนมักเป็นที่ล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งของเพื่อนๆ ส่งผลให้เด็กอ้วนเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าสูงกว่า (Higher Level of Depression) ที่สำคัญการที่ครอบครัวมองว่าเด็กอ้วนเป็นปัญหาอาจนำไปสู่ปัญหาทางจิต (Psychological Issues) อื่นๆที่อาจส่งผลระยะยาวต่อตัวเด็กมากขึ้นไปอีก


ปัญหาเด็กอ้วนมีสาเหตุมาจากอะไร?
  1. การบริโภคอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง
  2. การขาดการเคลื่อนไหวร่างกายหรือกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) เพราะวิถีชีวิตแบบนั่งๆนอนๆ (Sedentary Lifestyle) อันเป็นลักษณะการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน การเดินทาง หรือการจดจ่อกับหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ขาดการออกกำลังกาย ร่างกายไม่ได้เผาผลาญพลังงานที่ได้รับ จึงเกิดเป็นไข มันสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายและนำไปสู่ภาวะโรคอ้วนในที่สุด
  3. สาเหตุจากพันธุกรรม กล่าวคือ ถ้าพ่อแม่อ้วน ลูกก็มีโอกาสสูงที่จะอ้วนตามไปด้วย รวมไปถึงอาจเป็นผลของการใช้ยา
  4. อาการป่วยทางจิต เช่น โรคกินมากเกินไป (Binge Eating Disorder) โดยในปัจจุบัน อาหารจานด่วนและความสะดวกสบายของเทคโนโลยีเป็นตัวผลักดันให้อัตราภาวะโภชนาการเกินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับเด็กนั้น ภาวะโรคอ้วนมักมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องในครอบครัว โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นแบบอย่าง เช่น การรับประทานอาหารจานด่วนเป็นประจำ รวมไปถึงการพยายามปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก แต่ขัดต่อวิธี การบริโภคที่เหมาะสม เช่น การให้รางวัลเด็กด้วยของหวาน การบังคับให้กินข้าวให้หมด หรือการไม่อนุญาตให้กินขนมโดยเด็ดขาด เป็นเหตุให้เด็กแอบไปซื้อกินเองในปริมาณที่มากเกินไป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่ปัญหาโรคอ้วนเกิดจากความภูมิ ใจผิดๆ เช่น การที่ผู้ปกครองเลี้ยงเด็กให้อ้วนจ่ำม่ำเพราะน่ารักกว่าเด็กผอมๆ แม้จะรู้ว่าเด็กที่อ้วนมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆมากกว่าก็ตาม หรือแม้กระทั่งความรักลูกมากเกินไปก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กอ้วน ทั้งนี้เพราะผู้ปกครองคิดเพียงว่าอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด จึงตามใจและให้กินอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ต้องทำงานบ้าน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น กับตัวเด็กในภายภาคหน้า

ปัญหาเด็กอ้วนมีความสำคัญอย่างไร?

ปัญหาโรคอ้วนถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆที่ควรได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ไขอย่างเร่งด่วนในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคอ้วนที่สูงขึ้นนั้น หมายถึงอัตราการตายที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยโรคอ้วนถือเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 5 ของประชากรโลก ทั้งนี้เพราะเป็นปัจจัยอันก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าในปัจจุบันเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวนมากกว่า 40 ล้านคนกำลังประสบปัญหาภาวะโภชนาการเกินอีกประการหนึ่งที่ทำให้โรคอ้วนเป็นปัญหาที่ควรได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ไขนั้น เนื่องจากโรคอ้วนเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงมีความหวังและโอกาสในการหายขาดจากโรคได้เสมอ เพียงแต่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อีกทั้งต้องดูแลตนเองในเรื่องการบริโภคและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กไม่ได้หมายถึงเพียงความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงความผิดปกติทางจิตใจ อันเกิดจากความคิดด้านลบของตนเองฝ่ายเดียว หรือท่าทีของผู้อื่นที่ปฏิบัติต่อเด็กอ้วนต่างไปจากเด็กน้ำหนักปกติ เพราะฉะนั้นแล้วการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเด็กอ้วนที่ถูกต้อง จึงต้องเป็นการรักษาร่าง กายเยียวยาจิตใจและปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่เหมาะสมไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เด็กอ้วนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินควบคู่ไปกับพฤติกรรมการคิด อันจะส่งผลให้เด็กใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีความแข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ปัญหาโรคอ้วนอาจทำร้ายตัวเด็กไปตลอดชีวิต


พ่อแม่ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกอ้วนได้อย่างไร?

ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหาภาวะโรคอ้วนในเด็กเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเน้นที่ความร่วมมือของสมาชิกทุกคนในสถาบันครอบครัว ไม่ใช่เพียงมุ่งเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเด็กที่อ้วนแต่เพียงคนเดียว อีกทั้งไม่ควรหยิบยกประเด็นเรื่องน้ำหนักที่อาจกระทบความรู้สึกเด็กมาพูดคุยเป็นอันขาด

บทบาทที่สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองในการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กมีดังนี้
  1. เป็นตัวอย่างที่ดีของลูกในการเลือกรับประทานอาหาร
  2. 2สนับสนุนให้ลูกมีส่วนร่วมในการวางแผนการรับประทานอย่างมีประโยชน์ในแต่ละมื้อร่วมกับครอบครัว เพื่อกระตุ้นให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น
  3. พยายามประกอบอาหารเองและรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัวให้บ่อยที่สุด แทนการรับประทานอาหารนอกบ้านซึ่งมักไม่ได้พิถีพิถันเรื่องประโยชน์ต่อสุขภาพเท่ากับการลงมือเข้าครัวกันเอง
  4. สร้างนิสัยการรับประทานอาหารให้เป็นเวลาเพื่อลดการรับประทานระหว่างมื้อ
  5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหน้าจอโทรทัศน์เพื่อลดเวลาในการรับประทานอาหารลง
  6. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและน้ำตาลสูง
  7. ลดปริมาณขนมในบ้านและเพิ่มปริมาณผลไม้แทน
  8. ให้ความสำคัญกับอาหารเช้า เพราะเด็กที่รับประทานอาหารเช้าทุกวันจะมีโอกาสอ้วนน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า อีกทั้งยังทำให้เด็กมีพลังงานสำหรับการเรียนด้วย
  9. ปลูกฝังความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ โดยจำกัดเวลาในการดูโทรทัศน์ และพาไปออกกำลังกายรูปแบบต่างๆร่วมกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองใส่ใจเรื่องสุขภาพทั้งของตนเองและของลูก พร้อมแสดงให้เห็นประโยชน์ของการเคลื่อนไหวร่าง กายหรือกิจกรรมทางกาย (Physical Activity)
  10. ใช้เวลากับลูกให้มากขึ้น คอยเติมกำลังใจและความมั่นใจให้กับเขา
  11. ติดต่อกับคุณครูอย่างสม่ำเสมอเพื่อร่วมกันช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา
  12. หากปัญหามีความรุนแรง อาจปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านจิตวิทยา นักโภชนาการ นักกายภาพ สำหรับโปรแกรมควบคุมน้ำหนัก ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนิสัยการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว
 ข้อมูลจาก : taamkru.com
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
Promotion Credit Card in BBB55
Promotion Credit Card in BBB55
โปรโมชั่นบัตรเครดิตภายในงานมากมาย! ช้อปสะดวก ผ่านบัตร พร้อมรับสิทธิพิเศษเพียบ
ลงทะเบียนเข้างานครั้งแรก
ลงทะเบียนเข้างานครั้งแรก
ครอบครัว BBB บริจาคเงิน สมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ
ครอบครัว BBB บริจาคเงิน สมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ
ทุนมะเร็งในเด็ก, ทุน OPD เด็ก, ทุนศัลยกรรมในเด็ก