ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
ข่าวสาร
แบ่งปัน
เตรียมพี่คนโตอย่างไร ไม่อิจฉาน้อง (ในท้อง)
เตรียมพี่คนโตอย่างไร ไม่อิจฉาน้อง (ในท้อง) เมื่อพูดถึงความ "อิจฉา" เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาลที่ยังต้องการความรัก และการเอาใจใส่ เมื่อคุณแม่มีน้องอยู่ในท้องอีกคน เวลา และความสนใจส่วนหนึ่งจึงถูกแบ่งให้กับน้องเป็นหลัก จึงเป็นไปได้ที่ลูกคนโตจะรู้สึกว่าตัวเองถูกแทนที่ เกิดเป็นความอิจฉาจนถึงขั้นรังแก และทุบตีท้องกลม ๆ ของคุณแม่เพราะอิจฉาน้องในท้องที่มาแย่งความรักไป

พฤติกรรมข้างต้น พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น อธิบายผ่าน ทีมงาน Life & Family ว่า เป็นเรื่องปกติที่เด็กจะรู้สึกอิจฉาน้องในท้อง เพราะเขาเคยเป็นที่หนึ่งในใจพ่อแม่มาตลอด แต่เมื่อมีสมาชิกใหม่เข้ามา พ่อแม่หรือคนอื่น ๆ ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทำให้ลูกคนโตรู้สึกน้อยใจจนเกิดเป็นความอิจฉาตามมาได้

เรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับพี่คนโตอย่างเหมาะสม กับการจะมีน้องใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะไม่เช่นนั้น อาจทำให้ลูกสับสน และไม่เข้าใจพ่อแม่ ก่อตัวเป็นความอิจฉาที่มีระดับความรุนแรง และก้าวร้าวมากขึ้น โดยวิธีเตรียมพร้อมลูกคนพี่ หรือลูกคนโตนั้น จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นท่านนี้ ให้แนวทางไว้ว่า
  •  พ่อแม่ต้องยอมรับก่อนว่า พี่อิจฉาน้องเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะน้องที่อยู่ในท้องแม่ เนื่องจากหลาย ๆ ท่านไปคาดหวังว่าลูกต้องรัก ไม่อิจฉากัน ทำให้อึดอัดกับพฤติกรรมของลูกจนมีปฏิกิริยาในทางลบ เช่น ดุ หรือตีลูก จึงเป็นไปได้ที่เด็กจะน้อยใจว่าช่วงที่คุณแม่มีน้องทำไมถึงดุ และหงุดหงิดกับเขามากขึ้น

"ควรให้ระยะเวลาทำใจกับลูกคนโตบ้าง ไม่ควรหงุดหงิดใส่เขาเมื่อแสดงท่าทีอิจฉาน้องในท้อง เพราะการจะทำให้ลูกรักน้องในทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งคุณต้องเข้าใจด้วยว่า เขาเคยเป็นลูกคนเดียวในบ้าน เคยเป็นจุดสนใจทั้งหมด ดังนั้นต้องค่อย ๆ พูดกับเขา" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นกล่าว
  • ควรจัดเวลาพิเศษให้ลูกคนโตบ้าง พร้อมกับให้ความสนใจแก่เขาอย่างเต็มที่ เช่น ทำกิจกรรมที่เขาชอบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทานให้ฟัง อ่านหนังสือด้วยกัน ไปเดินเล่น นั่นจะทำให้ลูกรู้สึกว่า เขายังเป็นคนสำคัญจากพ่อแม่อยู่ ไม่ใช่น้องในท้องมาดึงความสนใจจากเขาไปเกือบหมด
  • ถ้ามีโอกาส ควรนำรูปตอนที่เขายังเล็ก หรือเลือกรูปสมัยตอนที่คุณตั้งท้องเขามาให้ดู จากนั้นอาจจะคุยกับลูกไปด้วยว่า "ตอนที่แม่อุ้มท้องหนู แม่ต้องดูแลหนูเป็นอย่างดี ก็เหมือนกับตอนนี้ที่แม่มีน้องอยู่ในท้อง แม่ก็ต้องดูแลน้องให้ดีเหมือนหนู เพราะน้องยังทำอะไรไม่ได้" เป็นต้น
  • หนังสือนิทานถือเป็นตัวช่วยให้ลูกคนโตเข้าใจบทบาทความเป็นพี่ได้ดี โดยคุณแม่อาจเลือกหนังสือที่บอกเล่าถึงความเป็นพี่ที่แสนดีมาอ่านให้ลูกฟัง เพื่อให้เด็กซึมซับบทบาท ตลอดจนเกิดความรู้สึกที่ดีกับการได้มีน้อง เช่น มีน้องเป็นเพื่อนเล่น คอยช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน
  • ควรให้ลูกมีส่วนร่วมกับการตั้งครรภ์ของคุณด้วย เช่น มีส่วนร่วมในการจัดเตรียมของเล่น และของใช้ของน้อง พากันเล่านิทานให้น้องฟังทุกคืน พูดคุยกับน้องในท้อง แนะนำตัวเองให้น้องรู้จัก หรือช่วยดูแลน้องในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งหลังจากช่วยเสร็จ ควรพูดขอบคุณลูก หรือบอกกับเขาว่า "โห ดีจังเลยที่แม่มีหนูมาก่อน หนูช่วยแม่ได้เยอะเลยค่ะ" สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ลูกคนโตภูมิใจ และค่อย ๆ ซึมซับบทบาทพี่ที่แสนดีตั้งแต่น้องอยู่ในท้อง

อย่างไรก็ดี เมื่อสมาชิกคนใหม่ของบ้านคลอดออกมา สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลยก็คือ เวลา ความรัก และการเอาใจใส่ที่ควรมีให้กับลูกทั้ง 2 คนอย่างใกล้เคียงกันที่สุด จากนั้นให้ลูกคนโตในฐานะพี่ชาย หรือพี่สาว ช่วยดูแลน้องร่วมกับคุณด้วย เช่น ช่วยหยิบของใช้สำหรับเด็กอ่อน หรืออื่นๆ ที่เขาพอจะช่วยได้

นอกเหนือจากคุณแม่แล้ว คุณพ่อมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยคุณแม่เลี้ยงดูลูก เพราะความเหนื่อยของคุณแม่อาจนำไปสู่อารมณ์หงุดหงิด และอาจพาลใส่ลูกคนโตที่ดื้อ หรือร้องงอแง ถือเป็นตัวปลุกกระตุ้นความอิจฉาให้เกิดขึ้นระหว่างพี่น้องได้ไม่น้อย
  
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000009722
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ลงทะเบียนเข้างานครั้งแรก
ลงทะเบียนเข้างานครั้งแรก
Promotion Credit Card in BBB59
Promotion Credit Card in BBB59
โปรโมชั่นบัตรเครดิตภายในงานมากมาย! ช้อปสะดวก ผ่านบัตร พร้อมรับสิทธิพิเศษเพียบ
VISITOR INFORMATION BBB60
VISITOR INFORMATION BBB60
รู้ไว้ก่อนไม่เสียหาย จุดบริการ Service ต่างๆ ภายในงาน พร้อมสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย