ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
ข่าวสาร
แบ่งปัน
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ-ไม่ควรทำ เมื่อลูกซนจนเจ็บตัว

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ-ไม่ควรทำ เมื่อลูกซนจนเจ็บตัว ในวันที่ลูกต้องเจ็บตัวเพราะความซนจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะวิ่งหกล้ม ชนเก้าอี้ หรือตกโต๊ะ วิธีการสอน หรือการปลอบของพ่อแม่แต่ละท่านย่อมแตกต่างกันไป บางคนใช้วิธีวิ่งเข้าไปโอ๋ บางคนตะโกนดุ หรือเอ็ดว่าเด็กต่าง ๆ นานา

ขณะที่บางคนอาจเมินเฉย และทำเป็นไม่สนใจลูกก็มี สรุปแล้ววิธีไหนควรทำ-ไม่ควรทำ วันนี้ ทีมงาน Life and Family มีแนวทางจาก ศ.ดร.นายแพทย์วิทยา นาควัชระ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว สถาบันพัฒนาตนเอง และนักบริหาร คลินิกสุขภาพจิตมานำเสนอกัน

เมื่อพูดถึงเรื่องที่ลูกซนจนเจ็บตัว ไม่ว่าจะเจ็บด้วยอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเกิดในครอบครัวไทย จิตแพทย์ท่านนี้บอกว่า คงหนีไม่พ้นจะมีเหตุการณ์ดังนี้เกิดขึ้น คือ

- พ่อแม่ลุกขึ้นวิ่งไปโอ๋ ทำท่าตกอกตกใจปลอบเด็กมากมาย หรือทำหน้าตากังวล

- พ่อ หรือแม่คนใดคนหนึ่งอาจตะโกนดุ และเอ็ดลูกว่าซุ่มซ่าม เดินอย่างไรไปชนเก้าอี้ล้ม พ่อแม่จะนอน เดินระวังหน่อยซิ ซึ่งพ่อแม่ในกลุ่มนี้อาจจะนอน หรือลุกขึ้นดู และดุลูกด้วยความไม่พอใจ

- พ่อแม่บางท่านอาจลุกขึ้นมาพร้อมโทษโต๊ะ เก้าอี้ว่า ทำไมไม่หลบลูกฉัน มาเกะกะทำไม ทำให้ลูกฉันต้องชนเก้าอี้จนเจ็บตัว หรือไม่ก็หันไปทำเป็นตีเก้าอี้เหมือนเป็นการลงโทษ หรือหันไปโทษพี่เลี้ยงว่า หายไปไหนหมด ไม่ดูแลเด็กให้ดี

- หรือพ่อแม่บางคนไม่สนใจอะไรเลย

หลาย ๆ กรณีที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จิตแพทย์ท่านนี้ ได้ยกตัวอย่างวิดีโอการสอนเมื่อครั้งที่เรียนสาขากุมารศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา โดยเนื้อเรื่องเปิดฉากด้วยเช้าวันหยุดที่พ่อแม่วัยหนุ่มสาวเริ่มต้นชีวิตด้วยการนอนอยู่บนเตียง มีลูกน้อยวัยประมาณ 2-3 ขวบ กำลังเดินซน ๆ ไปชนเก้าอี้ และของบนโต๊ะปลายเตียงล้มดังโครม พ่อแม่ตื่น และลุกขึ้น แทนที่จะเข้าไปโอ๋ ทำท่าตกอกตกใจ หรือดุลูก ตลอดจนโทษโต๊ะ โทษเก้าอี้ กลับลุกขึ้น หน้าตายิ้มแย้ม เดินมาดูลูก เห็นว่าลูกไม่บาดเจ็บอะไร และผู้เป็นพ่อพูดด้วยเสียงดังพร้อมรอยยิ้มว่า "ลุกขึ้นซิลูก เก่งมาก"

ตัวคุณพ่อในวิดีโอเรื่องนี้ พูดคำว่าเก่งมาก 2-3 ครั้ง ในขณะที่ลูกทำหน้าแหย ๆ ตอนแรก ๆ แล้วเปลี่ยนเป็นยิ้มหัวเราะและลุกขึ้นในที่สุด พ่อจึงพูดต่อไปว่า "ล้มแล้วลุกขึ้นได้นี่ เก่งมาก ดีมากนะลูก"

พ่อก็พูดต่อไปว่า "ไหนดูซิ เป็นอะไรบ้าง ไม่เจ็บมากใช่ไหม ไม่เป็นไรหรอก คราวนี้ถ้าจะเดินให้เดินดี ๆ นะ ไหน เก้าอี้มันล้มเกะกะใช่ไหม มาช่วยกันจัดให้มันเข้าที่ดี ๆ กันดีกว่า" ว่าแล้วพ่อกับลูกก็ช่วยกันเก็บเก้าอี้ และของที่ล้มให้อยู่ในระเบียบ โดยมีแม่ยืนยิ้มเชียร์อยู่ข้าง ๆ

พอจัดเสร็จ พ่อก็พูดว่า "เสร็จแล้ว เรียบร้อยแล้ว ทีหลังเดินระวังดี ๆ หน่อยนะลูก เจ้าไปเล่นได้แล้ว" ส่วนเด็กก็เดินไปเล่นอะไรต่อไป พ่อกับแม่ก็กลับไปนอนได้อีก

จากเรื่องดังกล่าว จิตแพทย์รายนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นความแตกต่างว่า บ้านเราไม่ค่อยได้เห็นภาพความสัมพันธ์ การสั่งสอน หรือให้กำลังใจกันแบบนี้ในสังคมบ้านเรา ที่ให้กำลังใจแม้ในยามทำผิดแล้วหาเรื่องมาชมเชยให้เหมาะสม เช่น ล้มแล้วลุกขึ้น เก่งมากนะลูก ไม่ใช่ชมแบบเข้าข้างว่า ชนโต๊ะล้มแล้ว เก่งมากนะลูก ซึ่งไม่เป็นความจริง

แต่ส่วนใหญ่เวลาลูกทำอะไรผิดพลาด พ่อแม่จะปลอบ หรือช่วยโอ๋มากไป หรือบางคนก็ดุว่า โทษ โกรธ ประณาม หรือเมินเฉย ไม่ค่อยมีการเข้าไปพูดให้กำลังใจลูกเลยว่า ล้มแล้วลุกนะลูก เก่งมาก ดีมาก ๆ แล้วสอนหรือสาธิตให้จัดการกับข้อผิดพลาดอย่างง่าย ๆ โดยไม่บ่นว่า หรือตำหนิลูก

ด้วยแนวการสอนแบบนี้ เด็กจะเกิดกำลังใจ แม้ผิดพลาดก็กล้าทำใหม่ได้อีก เหมือนล้มแล้วก็ลุกขึ้นใหม่ได้อีกเสมอ แถมได้รับการชมเชยว่า เก่งมาก ดีมากด้วย ทำให้เด็กจะมั่นใจว่า พ่อแม่รักเขาจริง แม้ในยามทำผิดก็ยังรัก และมีวิธีแสดงความรักอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไป ไม่น้อยไป และไม่ผิดวิธี เด็กจึงแน่ใจว่า มีคนรักเขาจริง ทำให้เขาสามารถรักคนอื่นได้ เชื่อคนที่ควรเชื่อ มีความภูมิใจในตัวเองตามความเป็นจริง แม้จะทำผิดก็ยังภูมิใจได้ และจะเกิดกำลังใจทำใหม่ให้ดีขึ้น

เมื่อโตขึ้น ถ้าเด็กทำอะไรผิดพลาดในชีวิตอีก ก็จะลุกขึ้น และทำกิจกรรมใหม่ ๆ ได้ พร้อมทั้งได้ยินเสียงปลอบให้กำลังใจจากประสบการณ์ชีวิตว่า ล้มแล้วลุกขึ้นซิลูก เก่งมาก ดีมาก

กับความสำคัญนี้ "อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ" ได้ใช้วิธีเดียวกันในการสอน และปลอบลูกเมื่อซนจนเจ็บ เพราะเชื่อว่า จะทำให้ลูกเรียนรู้ถึงความเจ็บตามความเป็นจริง โดยอี้เล่าให้เราฟังว่า เวลาลูกเจ็บตัวจากความซน เขาจะพยายามสอนให้ลูกเรียนรู้ถึงความเจ็บ และปลอบลูกอย่างมีสติ เพราะไม่เช่นนั้น อาจเป็นการทำร้ายโดยไม่รู้ตัวได้

"เวลาลูกเจ็บไม่ควรบอกลูกว่า ไม่เป็นไร ๆ ไม่เจ็บ ๆ แต่ควรพูดกับลูกว่า เจ็บนะเดี๋ยวก็หาย แล้วมาเข้าสู่ขั้นตอนของการรักษาเบื้องต้นต่อไป เพราะถ้าปฏิเสธสิ่งที่ลูกเป็น หรือสิ่งที่ลูกกำลังเจ็บ ก็เท่ากับว่า ปฏิเสธตัวตนของลูกไปด้วย ดังนั้นควรสอนเขาด้วยเหตุผลของความเป็นผู้ใหญ่ในความเป็นเด็กว่าเจ็บเดี๋ยวก็หาย" พ่ออี้เผย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ พ่อแม่หลายๆ ท่านคงจะทราบกันแล้วนะครับว่า เมื่อลูกซนจนเจ็บตัว การสอน หรือการปลอบแบบไหนสร้างสรรค์ และเหมาะสมกับเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากสอนผิดวิธี อาจเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อมได้

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.canada.com/health
บทความจาก www.manager.co.th
  
 ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000175520
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
Promotion Credit Card in BBB55
Promotion Credit Card in BBB55
โปรโมชั่นบัตรเครดิตภายในงานมากมาย! ช้อปสะดวก ผ่านบัตร พร้อมรับสิทธิพิเศษเพียบ
ลงทะเบียนเข้างานครั้งแรก
ลงทะเบียนเข้างานครั้งแรก
ครอบครัว BBB บริจาคเงิน สมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ
ครอบครัว BBB บริจาคเงิน สมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ
ทุนมะเร็งในเด็ก, ทุน OPD เด็ก, ทุนศัลยกรรมในเด็ก