ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เคล็ดวิธีแสนง่ายสู่การเป็น 'พันธมิตร' กับลูก

เคล็ดวิธีแสนง่ายสู่การเป็น 'พันธมิตร' กับลูก หลายต่อหลายครั้งที่ลูกดื้อรั้น กวนประสาท คงจะปฏิเสธคำถามในใจพ่อแม่ไปไม่ได้ว่า ทำไมถึงเป็นเด็กดื้อพูดไม่รู้เรื่องแบบนี้นะ จากนั้นก็มักจะตามมาด้วยอารมณ์โกรธ หงุดหงิด นำไปสู่การใช้คำพูด ความรุนแรงด้วยการตี ทำให้ลูกบางคนต่อต้าน และเถียงไม่เว้นวรรค หรือบางคนเก็บอาการ และมองพ่อแม่ในแง่ลบไปเลยก็เป็นได้ ทำให้ช่องว่างทางความสัมพันธ์มีระยะห่างกันมากขึ้น

ดังนั้นวิธีที่จะช่วยลดช่องว่างดังกล่าว วันหยุดนี้ ทีมงาน Life and Family มีเทคนิคการสื่อสารที่เป็นพันธมิตรกับลูกจากรศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ และนพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฒ์ กุมารแพทย์ผู้เขียนหนังสือ Shortcut สื่อสารกับลูกมาฝากเป็นแนวทางกัน โดยมี 4 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

สมมติว่าคุณพ่อคุณแม่ข้องใจคับจิต อยากจะรู้เหลือเกินว่าทำไมคุณลูกถึงได้ดื้อรั้น และกวนประสาทแบบนี้ ลองมาเริ่มขั้นตอนแรกกันดู เริ่มจาก เปลี่ยนที่ยืน แทนที่จะยืนจ้องหน้าอยู่ฝั่งตรงข้าม ขอให้คุณพ่อคุณแม่ลองขยับตัวสักนิด ขยับเท้าสักหน่อย จากนั้นกระเถิบเข้ามายืนข้างๆ เจ้าตัวเล็ก (หากมีการโอบบ่า ลูบศีรษะประกอบด้วยจะทำให้การเปลี่ยนที่ยืนสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น)

จากนั้นใช้สายตาแห่งความเข้าใจส่งเข้าไป แต่อย่าเพิ่งเปล่งเสียงว่า "ทำไม" เช่น ทำไมดื้อแบบนี้ ทำไมพูดไม่รู้เรื่องออกไป ขอให้พ่อแม่หยุดนิ่งสักนิด สูดลมหายใจเข้าลึกๆให้ประตู หัวใจเปิด เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการ ทบทวน ซึ่งจะนำไปสู่การ ทำความเข้าใจ ต่อไป

สำหรับการทบทวน และทำความเข้าใจนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจนิสัยใจคอของลูกก่อนว่ามีที่มาจากอะไร เช่น พันธุกรรมหรือยีน สิ่งแวดล้อม หรือพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก โดยในส่วนหลัง ทางการแพทย์แบ่งอารมณ์ของเด็กออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.Easy child เป็นกลุ่มเด็กที่เลี้ยงง่าย ถึงเวลากินก็กิน เวลานอนก็นอน หลับง่ายสบายดี เจอคนก็ชอบเล่นน่ารัก สดใสสมวัย 2.Difficult child เป็นเด็กที่ยากทุกเรื่อง ยากเป็นปกติ ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ การกิน การอยู่ และการนอน และ 3.Slow to warm up เด็กกลุ่มนี้จะไม่ทำในทันที ปฏิกิริยาตอบรับไม่ได้มีแบบฉับพลัน ดังนั้นต้องให้เวลากับเด็กกลุ่มนี้ในการปรับตัว หรือให้เวลาในการคิด

ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ประตูใจของพ่อแม่ที่เปิดอยู่นี้ ได้รับข้อมูลเพื่อนำไปทบทวนว่า พฤติกรรม หรือนิสัยที่คุณลูกเป็นอยู่นั้น มีที่มาจากอะไร พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือเป็นเพราะพื้นฐานอารมณ์ที่แตกต่างกันตั้งแต่เกิด

เมื่อทบทวนจนเกิดความเข้าใจแล้ว ทีนี้คุณพ่อคุณแม่ และคุณลูกก็จะได้สื่อสารเพื่อพูดคุย บอกกล่าว สั่งสอน อบรม และถ่ายทอดความรู้สึกกันได้อย่างตรงจิต ถูกใจมากขึ้น เช่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ประเมินแล้วว่า ที่ลูกดื้อรั้น มองไปมองมา น่าจะมีผลมาจากพันธุกรรม แต่โชคดีที่ลูกเป็นเด็ก Easy child ลองพูดคุย ขัดเกลาลูกอย่างอ่อนโยน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่นานก็จะได้เห็นผลดังใจ

แต่ถ้าพิจารณาแล้วว่า นอกจากได้รับพันธุกรรมความดื้อรั้นมาเต็มๆ แล้ว เจ้าตัวเล็กยังเป็นเด็ก Difficult child ที่ออกจะยากไปเสียทุกเรื่อง คุณพ่อคุณแม่ก็คงต้องปรับใจ และใช้ความพยายามมากขึ้น โดยเติมความใจเย็นลงไปในการจะสื่อสารเพื่ออบรม สอน และขัดเกลาลูกทีละเล็กละน้อย หรือหากดูแล้ว ลูกอยู่ในกลุ่มเด็กที่มีแนวคิด "ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม" อย่างเด็ก Slow to warm up ในการจะสื่อสาร หรือบอกกล่าวสิ่งใด คุณพ่อคุณแม่ต้องเผื่อใจ หรือเผื่อเวลาให้ลูกได้คิด ได้รับ และแปลงสารที่คุณพ่อคุณแม่ส่งไปให้มากขึ้นสักหน่อย แล้วการสื่อสารกับลูกจะราบรื่น

ลองนำไปทดลองใช้กันดูนะครับ เวลาลูกดื้อ หรือยียวนกวนประสาท แค่ท่องให้ขึ้นใจว่า เปลี่ยนที่ยืน เปิดใจ ทบทวน และทำความเข้าใจ จะช่วยให้การสื่อสารเพื่อการอบรมสั่งสอนลูกน้อยเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000141994
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ
ความเชื่อและความจริงสำหรับแม่ท้อง
ความเชื่อและความจริงสำหรับแม่ท้อง