อย่าให้ "คำพูด" ทำร้ายลูก อย่างที่ทราบกันดีว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะเด็กจะจดจำเสียงผ่านผิวหนังหรือเนื้อเยื่อต่างๆ ของแม่ได้ดีกว่าการได้ยินเสียงผ่านในอากาศ ยิ่งคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกมากเท่าไรก็จะสามารถสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกมากเท่านั้น แต่ทั้งนี้เมื่อลูกคลอดออกมา การสื่อสารกับลูกจึงเป็นอีกเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ควรคำนึงถึงพัฒนาการและการรับรู้ของลูกควบคู่กันไปด้วย
หากเป็นเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยเตาะแตะ "นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์" หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล กล่าวว่า คุณพ่อคุณแม่จะต้องสื่อสารด้วยภาษาที่ชัดเจนกับลูก เช่น ได้หรือไม่ได้ เพราะเด็กเล็กจะไม่รู้จักว่ามันมีสีเทา สีแสดมันเป็นอย่างไร ซึ่งหากอธิบายขยายความก็จะทำให้เด็กเกิดความสับสนได้ และที่สำคัญพ่อแม่ต้องมีความสม่ำเสมอด้วย
"มันกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว เพราะว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ในบางครั้งก็มักจะห้ามปรามเด็กๆ แต่บางครั้งก็จะปล่อยให้เด็กทำอะไรตามใจชอบ มันทำให้เด็กเกิดความสับสนว่า ตกลงเรื่องนี้สามารถทำได้ไหม? หรือทำไม่ได้ สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 1-2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มพูดกับลูกด้วยการบอกว่าสิ่งไหนทำได้หรือสิ่งไหนทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป ถ้าลูกจะไปเล่นแก้วน้ำที่แตกง่าย ก็บอกว่าเล่นไม่ได้ ถ้าลูกอยากจะเล่นก็ให้เล่นแก้วที่เป็นพลาสติก ซึ่งจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนว่าเด็กจะรับรู้ได้ตามพัฒนาการ"
ทั้งนี้ คุณหมอบอกถึงหัวใจสำคัญที่มีผลต่อการสื่อสารกับลูกว่า ต้องมีความชัดเจน ต้องดูความเหมาะสมกับพัฒนาการด้านการรับรู้ของลูก และต้องมีความสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามมักเกิดคำถามว่า พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเข้าใจในการสื่อสาร ซึ่งตามธรรมชาติของเด็กจะเกิดความสงสัยอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นเด็กเล็กเล่นไม่ได้ก็คือไม่ได้หรือห้ามเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นด็กโตคุณพ่อคุณแม่ต้องให้คำอธิบายที่สามารถเข้าใจง่าย สั้นๆ แต่ได้ใจความ อย่าพยายามยืดเยื้อในการพูด อีกทั้งเมื่อใดที่เด็กเกิดความสงสัย ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ต้องพร้อมตอบคำถามให้เด็กเข้าใจตามความสามารถในการรับรู้ของเด็กเองด้วย
แต่หากการสื่อสารกับลูกไม่เป็นผล หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นท่านนี้ ให้คำแนะนำว่า สิ่งที่พ่อแม่ต้องควรปฏิบัติ คือการกำกับให้ลูกทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ไม่ใช่การบังคับ ยกตัวอย่างง่ายๆ กับเด็กที่เริ่มหัดเดินก็ย่อมต้องการเดินไปไหนมาไหนตามใจชอบ พอลูกจะเดินออกไปนอกบ้าน ไปกลางถนน พ่อแม่จะคอยตะโกนห้ามไม่ให้ลูกเดินออกไป แต่ก็ไม่ได้ไปจับตัวของลูกเอาไว้ เขาจึงไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันจะมีอันตรายอย่างไร เพราะพ่อแม่เองก็ไม่ได้เข้มงวดอะไรมากมาย นอกจากนั้น การใช้น้ำเสียงและท่าทางก็เป็นส่วนประกอบที่จะช่วยให้การสื่อสารกับลูกประสบความสำเร็จ
"พ่อแม่บางคนบอกว่า อย่าทำนะลูก เดี๋ยวมันจะตกแตก หรือไม่เอานะลูกไม่ควรทำ บางครั้งการห้ามจะต้องอาศัยน้ำเสียงที่หนักแน่นและจริงจัง เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าไม่สามารถทำได้จริงๆ แต่ถ้าเป็นการพูดชักชวนต่างๆ ก็ควรใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยน น่าหลงใหลเชื่อฟัง และการพูดในทางลบซ้ำๆ ซากๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดกับเด็ก เพราะนอกจากเด็กจะไม่จดจำแล้ว เด็กยังเกิดความรำคาญและกลายเป็นเด็กที่ไม่เชื่อฟังได้" นพ.พงษ์ศักดิ์อธิบาย
เช่นเดียวกับ "รศ.นท.นพ. ชิษณุ พันธุ์เจริญ" กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สะท้อนมุมมองกับเรื่องเดียวกันนี้ว่า สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารกับลูกด้วยใช้ภาษากายเป็นองค์ประกอบกับการพูดคุย เพราะส่วนมากจะคาดหวังกับพฤติกรรมของเด็ก แต่ไม่เคยทำเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น เด็กจึงไม่สามารถทำได้ดีตามที่พ่อแม่ต้องการ อย่างที่บอกว่าพ่อแม่บางคนก็ยังขาดทักษะในการสื่อสารกับลูก ทำให้การพูดคุยกับลูกไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจลองปรับเปลี่ยนที่ตัวของพ่อแม่เองก่อน
"ถ้าการสนทนาไม่ได้อยู่ในความสนใจของลูก คุณพ่อคุณแม่อาจใช้หลักของการแบนความสนใจไปหาสิ่งเร้าใหม่ๆ ที่ทำให้เด็กสนุกจนลืมในสิ่งที่เราห้าม และต้องคอยสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมอย่างไรต่อการสื่อสารของพ่อแม่ด้วย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องอาศัยการสังเกตมาก เพราะเด็กยังไม่สามารถตอบโต้ได้ พ่อแม่อาจจะสังเกตจากอาการร้องของเด็ก เพราะโดยสัญชาตญาณจะรู้ว่าลูกร้องแบบนี้แล้วต้องการอะไร"
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์กับลูกสามารถทำได้โดยใช้กิจกรรมเป็นสื่อ เพราะทุกครั้งที่มีการทำกิจกรรมกันในครอบครัวมักจะมีการพูดคุยกันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การทำงานบ้าน การดูโทรทัศน์ การเล่นของเล่น ซึ่งลูกจะมีคำถามระหว่างการทำกิจกรรมตลอดเวลา ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กฝากข้อคิดทิ้งท้ายกับทุกบ้านว่า อย่าลืมว่าการสื่อสารกับลูกจะสร้างความเข้าใจได้ดี สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ต้องพึงระวัง คือการเคารพและให้เกียรติคนพูด ถึงแม้ว่าจะเป็นลูกของเราก็ตาม ควรให้โอกาสลูกได้พูด ได้สื่อสารตามความต้องการ หากเป็นสิ่งที่ผิดพลาดก็ค่อยหาวิธีในการอธิบายสิ่งที่ถูกต้องให้เขาเข้าใจ และสิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องฟังลูกมากขึ้น ไม่ใช่จะสั่งอย่างเดียว โดยไม่ฟังความคิดเห็นของลูกเลย ในทางตรงกันข้ามควรกระตุ้นให้ลูกพูดและแสดงออกมากขึ้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ
ข้อมูลจาก :
http://www.thaihealth.or.th/node/16923