ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เช็กความบกพร่อง "การรับความรู้สึก" ของสมองลูก!

เช็กความบกพร่อง "การรับความรู้สึก" ของสมองลูก! เมื่อพูดถึง "การรับความรู้สึก" ของเด็ก เป็นส่วนหนึ่งการทำงานของสมองในการปรับสมดุลการรับความรู้สึก และการผสมผสานการรับรู้ต่างๆ ให้เป็นระเบียบ เพราะในทุกๆ วินาที จะมีข้อมูลไหลเข้าสู่สมองตลอดเวลา และมากเกินกว่าที่สมองจะจัดการได้พร้อมกันทีเดียว จึงจำเป็นต้องหยุดความรู้สึกที่ไม่จำเป็นเอาไว้

เพราะไม่เช่นนั้น เด็กจะให้ความสนใจกับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา และมีการตอบรับกับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถ้าการรับความรู้สึกดี เด็กจะมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้ดี เช่น จดจ่อกับการสอนของครู โดยลืมไปว่ามีเสียงพัดลม หรือเสียงดังจากเด็กห้องถัดไป แต่ถ้ามีความบกพร่อง เด็กจะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ และตอบสนองพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ในเรื่องนี้ "สันติ จันทวรรณ" นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า ดร.เอ จีน แอร์ (A.jean.ayres) นักกิจกรรมบำบัด และนักจิตวิทยาการศึกษา ชาวอเมริกัน ได้พัฒนาทฤษฎีการปรับสมดุลของสมองตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 จาก Brain Research Institute of University of California และเสนอแนวคิดการรับรู้ความรู้สึกของสมอง (Sensory Integration) ที่เป็นความสามารถในการผสมผสานกันระหว่างการรับความรู้สึกของอวัยวะรับสัมผัส การจัดระเบียบข้อมูล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และตอบสนองพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยผลวิจัยในช่วง 7 ปีแรกของชีวิต ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญ เพราะการทำงานของการบูรณาการของประสาทความรู้สึกดีจะส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวของเด็กอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษา อารมณ์ การรับรู้ เรียนรู้ รวมทั้งทักษะในการเข้าสังคมของเด็กได้อีกด้วย

ด้านระบบประสาทการรับรู้ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน มีทั้งหมด 7 ระบบ ได้แก่ 
  1. การมองเห็น (Visual) 
  2. การสัมผัส (Touch) 
  3. การได้ยิน (Hearing) 
  4. การรับรส (Taste) 
  5. การดมกลิ่น (Smell) 
  6. การรับความรู้สึกผ่านระบบเอ็นข้อต่อและกล้ามเนื้อ (Proprioceptive)
  7. การรักษาสมดุลของร่างกาย (Vestibular) สำหรับทฤษฎีการผสมผสานประสาทในการรับความรู้สึกของสมอง หรือ Sensory 
Integration (SI) นั้น จะเน้นความสำคัญกับระบบประสาทเพียง 3 ระบบเท่านั้น คือ

1. การสัมผัส (Touch) ระบบนี้สามารถรับความรู้สึกได้ทั่วร่างกาย ทั้งความรู้สึก เจ็บ ร้อน เย็น แรงกด ความรู้สึกจะถูกส่งไปยังสมองเพื่อประมวลผลการรับความรู้สึก ทำให้เกิดการเรียนรู้และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล รู้จักรักตนเอง รู้จักไว้วางใจผู้อื่น ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาด้านอารมณ์ สังคมและสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นได้อย่างเหมาะสม

2. การรับความรู้สึกผ่านระบบเอ็น ข้อต่อและกล้ามเนื้อ (Proprioceptive) ระบบนี้มีอวัยวะรับความรู้สึกซึ่งอยู่ภายใน เอ็น ข้อต่อและกล้ามเนื้อของแต่ละคน ทำให้เราสามารถทราบตำแหน่งของแขนขา ทิศทางและความเร็วของการเคลื่อนไหวแขนขา ระบบนี้มีส่วนช่วยในการออกแรงเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมาะสม เช่น การเขียนหนังสือไม่กดดินสอเบาหรือแรงเกินไป สามารถทรงท่าทำกิจกรรมต่างๆได้เหมาะสม เช่น สามารถทรงตัวนั่งโต๊ะเขียนหนังสือได้ ไม่นั่งฟุบโต๊ะ เป็นต้น

3. การรักษาสมดุลของร่างกาย (Vestibular) ระบบนี้มีอวัยวะรับความรู้สึกอยู่ในหูชั้นใน จะทำงานทันทีที่ศีรษะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากแนวกลางลำตัว ส่งผลให้ร่างกายสามารถรักษาสมดุล ไม่ล้มลงเมื่อมีการเคลื่อนไหว ช่วยส่งเสริมและพัฒนาการปรับระดับความตื่นตัวต่อการทำกิจกรรมที่เหมาะสม มีช่วงสนใจทำกิจกรรมได้ต่อเนื่อง

คนที่มีปัญหาในระบบนี้ อาจแสดงออกโดย เกิดอาการกลัวเมื่อต้องการเคลื่อนไหวบนพื้นที่ไม่ราบเรียบ โยกเยก หรือสูงจากพื้น ทำให้มีลักษณะการเคลื่อนไหวที่งุ่มง่าม ไม่คล่องแคล่วสมวัย ไม่ชอบปีนป่ายหรือขึ้นลงบันได บางคนมีลักษณะกระตุ้นตัวเอง คือ ชอบหมุนตัวเอง อยู่ไม่นิ่งเคลื่อนไหวตลอดเวลา เป็นต้น

สำหรับการรับความรู้สึกทั้ง 3 ระบบนี้ นักกิจกรรมบำบัดกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการรับรู้ การเรียนรู้ต่างๆ เช่น การรับรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย การวางแผนการเคลื่อนไหว การพัฒนาทักษะทางด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้

เช็กจุดบกพร่อง "การรับความรู้สึก" ของสมองลูก

อย่างไรก็ดี นักกิจกรรมบำบัดได้ให้วิธีการสังเกตเด็กที่มีความบกพร่องของการรับความรู้สึกและการผสมผสานการรับรู้ ที่เข้าข่ายว่าเด็กอาจจะมีความบกพร่องในการรับความรู้สึก เพื่อจะได้หาทางบำบัดรักษาได้อย่างถูกวิธี ดังนี้

1. เคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา วิ่งมากกว่าเดิน กิจกรรมที่ทำดูเหมือนไม่มีเป้าหมาย สมาธิไม่ดี ไม่นั่งนิ่ง ยากที่จะนั่งทำกิจกรรมได้นาน วอกแวก เสียสมาธิได้ง่าย เห็นชัดมากที่โรงเรียนหรือขณะนั่งเรียนในห้องเรียน

2. เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม จะค่อนข้างหงุดหงิดง่าย เด็กบางรายมีลักษณะไวต่อการรับความรู้สึกที่มากเกินไป เช่น จะรอคอยไม่ได้ อยากได้อะไรต้องได้ทันที ไม่ชอบให้คนอื่นมาสัมผัสตัว และอยู่ใกล้ๆ ไม่ชอบเสียงดัง ไม่ชอบลักษณะเฉพาะเจาะจงบางอย่าง กลัวความสูงมากกว่าปกติ

3. มีปัญหาด้านการสื่อสาร คือ พูดช้า หรือพูดไม่ชัด

4. มีปัญหาร่างกายอ่อนปวกเปียก เหนื่อยง่าย ต้องใช้แรงหรือความพยายามเยอะมากที่จะทรงตัว/ตั้งศีรษะให้ตรง ชอบนั่งเอามือเท้าคางหรือศีรษะไว้บ่อยๆ เด็กเสียสมดุลร่างกายง่าย สะดุดหกล้มบ่อย ขณะเขียนหนังสือ ดินสอจะหลุดมือบ่อย เหมือนจับไม่ถนัด บางทีมักจะตกจากเกาอี้หรือตัวมักลื่นไถล

5. พัฒนาการด้านการเล่นล่าช้าหรือไม่เหมาะสมกับวัย หากเปรียบเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน เช่น การเล่นของเล่น เด็กจะมีปัญหาเล่นที่เป็นแบบโครงสร้างตัวต่อแบบโมเดลต่างๆ เช่น ตัวต่อบล็อก จิ๊กซอว์

6. เด็กจะมีปัญหาด้านการเรียน โดยเฉพาะในด้านการอ่าน การเขียน ส่วนมากที่พบบ่อยก็คือ เด็กเขียนขนาดตัวหนังสือใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ออกแรงกดในสมุดขณะที่เขียนมากหรือน้อยเกินไป ทำงานเสร็จล่าช้า หรือถ้าทำเสร็จเร็วก็จะงานไม่เรียบร้อย

7. เด็กมีปัญหาทักษะสังคม สังเกตง่ายๆเด็กมักจะหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องอาศัยทักษะการเคลื่อนไหว เช่น เต้นรำ เล่นกีฬา หรือการเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี รวมทั้งจะมีปัญหาการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เลี้ยวหรือเดินไปผิดทิศทางเป็นประจำ จำหมายเลขโทรศัพท์ผิดๆ หรือจำไม่ได้ และนับเงินทอนผิด เป็นต้น

สำหรับการบำบัดรักษาอาการผิดปกติ หรือมีความบกพร่องของการรับความรู้สึกนั้น ขั้นตอนแรกนักกิจกรรมบำบัดจะทำการประเมินผลการรับความรู้สึกที่มีปัญหาและวางแผนการบำบัดโดยจัดกิจกรรมให้สอดคล้องเพื่อพัฒนาการจัดระเบียบของสมอง โดยจะเน้นการกระตุ้นให้เด็กทำกิจกรรมด้วยตนเองให้มากที่สุด จากนั้นคอยสังเกตพฤติกรรมการตอบสนองและคอยปรับกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นสมองให้พัฒนาขีดความสามารถให้สูงขึ้น และตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างเหมาะสม
  
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000060665
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ
ความเชื่อและความจริงสำหรับแม่ท้อง
ความเชื่อและความจริงสำหรับแม่ท้อง