ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เนอร์สเซอรี่-ห้าง พื้นที่เสี่ยงติดเชื้อรุนแรงในลูกเล็ก!

เนอร์สเซอรี่-ห้าง พื้นที่เสี่ยงติดเชื้อรุนแรงในลูกเล็ก! เป็นเรื่องที่น่าวิตกไม่น้อย สำหรับบ้านที่มีลูกเล็ก เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายกว่าวัยอื่น เนื่องจากเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงดีพอ จนกลายเป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนเลี่ยงที่จะพาลูกออกไปพบปะกับแหล่งผู้คน แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง ที่มักจะพาลูกเล็กไปเดินเที่ยวเล่น โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า หรือปล่อยให้ลูกเข้าไปเล่นกับกลุ่มเด็กจำนวนมาก จนละเลยถึงความสะอาด และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา

กับความเสี่ยงข้างต้น "ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ" ประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย ให้คำอธิบายว่า ทุกคนเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ตลอดเวลา จากอากาศที่หายใจ หรือจากอาหาร โดยความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ไม่สบาย ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเด็กเล็กเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นในพื้นที่ที่เด็กเล็กรวมตัวกันมากๆ เช่น เนอร์สเซอรี่ หรือ ห้างสรรพสินค้าก็เป็นอีกสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อและติดเชื้อของเด็กเล็กด้วย โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย "นิวโมคอคคัส" ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มโรคติดเชื้อรุนแรงในเด็กเล็กที่อวัยวะต่างๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ปอด และกระแสเลือด เป็นต้น

"เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อที่อยู่ในร่างกายมานานแล้ว เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอ และคอหอย พบความชุกของเชื้อมากถึงร้อยละ 20-30 ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ซึ่งเมื่อร่างกายอ่อนแอ ทำให้เยื่อบุดังกล่าว โดนทำลาย หรือมีการสำลักเอาน้ำลายที่มีเชื้อโรคนี้ เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะหลุดเข้าไปสู่อวัยวะต่างๆ ซึ่งหากเข้าสู่ปอดก็จะทำให้เป็นโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ โดยเชื้อดังกล่าวจะเข้าไปทำลายเนื้อปอด ทำให้การดูดซึมออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง เด็กเล็กจึงต้องใช้กล้ามเนื้อพิเศษในการช่วยหายใจ เช่น กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อท้อง ทำให้เวลาหายใจจะมีอาการคอบุ๋ม ท้องบุ๋ม ซี่โครงยก จมูกบาน เป็นต้น รวมทั้งเด็กเล็กที่หายใจแล้วมีเสียงดัง หรือเสียงหวีด"

นอกจากนี้เชื้อดังกล่าว อาจจะหลุดเข้าไปสู่อวัยวะสำคัญอื่นๆ ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง หรือโรคไอพีดี ซึ่งประกอบด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น โดยอาการในเบื้องต้นจะเริ่มจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน อาการจะเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา คือมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ แต่อาการแตกต่างที่สังเกตได้ชัดเจน คือจะซึม และงอแงในเวลาเดียวกัน และอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2-3 วัน เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่อวัยวะต่างๆ เช่นสมอง หรือกระแสเลือด เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าวเสริมว่า โรคไอพีดี เป็นโรคที่มีความรุนแรง ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ ถ้าลูกไม่สบายคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามการดูแล และป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ด้วยการเสริมสร้างภูมิต้านทานที่ดี ได้แก่ 

1. การให้ทารกดื่มนมแม่ 
2. รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ 
3. พักผ่อนให้เพียงพอ 
4. สอนให้เด็กล้างมืออย่างถูกวิธี 
5. รักษาสุขอนามัยเป็นประจำ 
6. ให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

"ควรหลีกเลี่ยงพาเด็กเล็กไปสถานที่ที่แออัดและมีเด็กอยู่รวมกันเยอะๆ เช่น ในเนอร์สเซอรี่ หรือต้องอยู่ในสถานที่ๆมีคนแออัด อย่างศูนย์การค้า ตรงนี้ก็จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อได้ และเพื่อการเสริมภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ให้ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจจะพิจารณาให้ วัคซีนไอพีดี ในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกคนแม้จะเป็นเด็กสุขภาพดีก็ตาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานสำหรับเด็กต่อเชื้อนิวโมคอคคัสซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงดังกล่าวได้ และจะนำไปสู่การป้องกันการเกิดความพิการหรือการเสียชีวิตจากเชื้อโรคที่ไปยังอวัยวะต่างๆ ได้"

อย่างไรก็ตาม วัคซีนดังกล่าวยังเป็นวัคซีนทางเลือก ยังไม่ได้ถูกจัดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานเช่นเดียวกับวัคซีนอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่คงต้องปรึกษากุมารแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดให้ลูกหลานด้วยตัวเอง สำหรับครู และเจ้าหน้าที่ในเนอร์สเซอรี่สิ่งที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อลดการแพร่เชื้อก็คือ หากมีเด็กไม่สบายควรแยกดูแลจากเด็กเล็กคนอื่นๆ แยกการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น ช้อนข้าว แก้วน้ำเป็นต้น และหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีไข้สูง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้รีบพาพบแพทย์ทันที

ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000051389
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ
วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ
ความเชื่อและความจริงสำหรับแม่ท้อง
ความเชื่อและความจริงสำหรับแม่ท้อง