ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เทคนิคช่วย "ลูกตาบอด" ให้เดินตามอย่างปลอดภัย

เทคนิคช่วย "ลูกตาบอด" ให้เดินตามอย่างปลอดภัย ในอดีต ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น มักจะไม่ค่อยกล้าออกไปนอกบ้านตามลำพัง จึงได้แต่นั่งเฉยๆ อยู่กับบ้าน และต้องรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่แท้ที่จริงแล้ว บ้านใดที่มีลูก หรือคนในบ้านมีความบกพร่องทางการมองเห็น พ่อแม่ หรือญาติ สามารถสอน และฝึกให้เดินทางด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย ทั้งในบ้าน หรือนอกบ้านได้ โดยเฉพาะการเดินตาม และการใช้ไม้เท้านำทาง

ดังนั้น ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ต้องสามารถรับรู้ได้ว่า ตัวเองอยู่ที่ใดในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ หรือการเคลื่อนไหว ที่จะสามารถเคลื่อนจากที่หนึ่ง ไปยังสถานที่ต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างสะดวก

เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องรู้เทคนิค เพื่อที่จะช่วยลูกที่อยู่ในโลกมืดให้เดินทางได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย วันนี้ทีมงาน Life and Family มีเทคนิค และข้อแนะนำจาก ศูนย์พิทักษ์ดวงตา และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกบกพร่องทางการมองเห็นกันครับ

เทคนิคการเดิน กับผู้นำทาง

- วิธีการปฏิบัติกับลูกอย่างถูกต้อง พ่อแม่ หรือผู้นำทาง ยืนข้างๆ ลูกที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อเป็นการบอกให้ทราบว่า พร้อมที่จะนำทางแล้ว เอาหลังมือแตะหลังมือลูกเบาๆ ด้วยมือขวา หรือมือซ้ายก็ได้
- ลูกจะเลื่อนหลังมือไปตามแขนของพ่อแม่จนถึงข้อศอก แล้วจับเหนือข้อศอก โดยให้หัวแม่มืออยู่ด้านนอก ส่วนนิ้วที่เหลืออยู่ด้านใน จับให้แน่นพอประมาณ เพื่อไม่ให้หลุดขณะเดิน แต่ทั้งนี้ต้องไม่แน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ผู้นำทางรำคาญ และเจ็บได้
- ลูกควรแนบข้อศอกอีกข้างกับลำตัวตามปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เดินเอียงไปข้างซ้าย หรือขวาในขณะที่เดินไปกับผู้นำทาง
- ลูกจะอยู่เยื้องพ่อแม่ หรือผู้นำทางไปข้างหลังครึ่งก้าว ไหล่ตรงกัน การเดินในลักษณะนี้ จะทำให้พ่อแม่ผู้นำทางทราบอยู่ตลอดเวลาว่า ลูกจะเดินตามหลังในลักษณะใด

อย่างไรก็ดี เทคนิคเบื้องต้นนี้ ควรใช้อย่างถูกต้องทุกครั้งด้วย เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ปลอดภัยเท่านั้น ยังทำให้ลูกที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เดินทางกับผู้นำทางได้อย่างสะดวก ขณะเดินทางไปด้วยกัน เมื่อจะก้าวขึ้นฟุตบาท หรือบันไดที่มีความสูงต่ำแตกต่างกัน พ่อแม่ หรือผู้นำทางควรก้าวขึ้นตรงๆ ไม่ก้าวขึ้นทางด้านข้าง (หันด้านข้างขึ้น) เพราะจะทำให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสับสน และสะดุดฟุตบาทได้

เทคนิคการนำทางลูก 'ขึ้นบันได'

- พ่อแม่ หรือผู้นำทางหยุดที่อยู่เชิงบันได ลูกที่มีความบกพร่องด้านการมองเห็นจะหยุดตาม และให้ยืนหลังผู้นำทางครึ่งก้าว
- พ่อแม่บอกให้ลูกทราบว่า ขณะนี้เดินทางมาถึงเชิงบันไดแล้ว และบอกด้วยว่ามีราวบันไดหรือไม่ ทั้งนี้เพราะถ้าลูกจับราวบันไดขณะขึ้น จะได้รู้สึกสบายใจ
- ขณะที่พ่อแม่ หรือผู้นำทางก้าวขึ้นบันไดขั้นแรก ลูกจะต้องตามครึ่งก้าว เพื่อให้ปลายเท้าสัมผัสกับขอบล่างขั้นบันได ซึ่งจะทำให้ทราบช่วงของขั้นบันได
- ให้ลูกก้าวตามขึ้นบันไดโดยอยู่ต่ำกว่าผู้นำทาง 1 ขั้นเสมอ ผู้นำทางไม่ควรหยุดรอ ควรก้าวนำขึ้นไปตามปกติ
- ขณะก้าวขึ้นบันได ทั้งสองคนควรโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้น้ำหนักตัวอยู่ด้านหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิ้วเท้า ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วๆ ไปทำได้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะถ้าเกิดล้มไปข้างหน้า จะมีอันตรายน้อยกว่าหงายหลัง


เทคนิคการนำทางลูก 'ลงบันได'

- เมื่อพ่อแม่พาลูกมาถึงขอบบันได ควรให้หยุดก่อน จากนั้นลูกจะหยุดตาม และให้อยู่ห่างทางด้านหลังครึ่งก้าว
- พ่อแม่ หรือผู้นำทางบอกลูกให้ทราบว่า กำลังจะลงบันไดแล้วนะ ซึ่งถ้ามีราวบันไดให้จับไว้ด้วย เพื่อที่จะลงได้อย่างสะดวก
- เมื่อพ่อแม่ หรือผู้นำทางก้าวลงบันไดขั้นแรก ลูกจะต้องเลื่อนเท้าตามประมาณครึ่งก้าว จนปลายเท้าแตะขอบบันได เพื่อให้ทราบตำแหน่ง และระยะของขั้นบันได
- ลูกที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ก้าวลงบันไดตามผู้นำทางโดยอยู่หลัง 1 ขั้น
- ขณะก้าวลงบันไดทั้งคนควรเอนตัวไปข้างหลังเล็กน้อย เพื่อให้น้ำหนักตัวตกลงด้านหลัง นั่นคือ ที่สันเท้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วๆ ไป ทั้งนี้ เพราะเวลาเสียหลักล้ม จะหงายหลัง ซึ่งเป็นอันตรายน้อยกว่าล้มคว่ำหน้า
- เมื่อพ่อแม่ หรือผู้นำทางลงถึงพื้น ลูกจะทราบโดยสังเกตจากระดับของพ่อแม่ เมื่อก้าวลงอีก 1 ก้าว จะถึงพื้นเช่นเดียวกัน


กระนั้น วิธีเบื้องต้นที่เหมาะสมในการนำทาง ลูกจะต้องเดินตามพ่อแม่ หรือผู้นำทางเสมอ ไม่ใช่ผู้นำทางอยู่ข้างหลัง แล้วคอยผลักให้ลูกเดินนำหน้า ซึ่งในกรณีนี้จะเป็นอันตรายมาก เนื่องจากพ่อแม่ หรือผู้นำทางมองข้างหน้าไม่ชัด นำไปสู่การผลักให้ลูกตกหลุม หรือเดินตัดหน้ารถที่กำลังวิ่งได้ ดังนั้นการช่วย ต้องสอนลูกว่า ถ้าใครมาช่วยนำทางให้เรา ต้องอธิบายให้เขาคนนั้นเข้าใจว่า "การช่วยนำทาง จะต้องให้จับเหนือข้อศอก และเดินนำหน้าเท่านั้น"

เทคนิคการใช้ไม้เท้าเดินเลาะตามแนวถนน

เวลาเดินจะต้องแกว่งไม้เท้าไปข้างๆ ให้สัมผัสกับพื้นทางเดิน หรือถนนข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งสัมผัสหญ้า ปลายไม้เท้าจะสัมผัสกับพื้นถนน-หญ้า เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่าปลายไม้เท้าสัมผัสกับพื้นถนน 2 ครั้ง แสดงว่ากำลังเดินเฉออกนอกถนน ดังนั้นข้อควรระวังคือ

- พ่อแม่ดูลูกว่า จับไม้เท้าถูกต้องหรือไม่ (จับให้ปลายไม้เท้าอยู่ข้างหน้า ห่างจากจุดที่ยืนประมาณ 1 เมตร โดยจับด้วยมือข้างใดก็ได้ เวลาจับให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน นิ้วชี้ทาบไปข้างๆ ตามความยาวของไม้เท้า ส่วนอีก 3 นิ้วที่เหลือ จับด้านล่าง)
- ดูว่า ตำแหน่งของมือที่จับไม้เท้า ยื่นไปข้างหน้า หรืออยู่กึ่งกลางลำตัวหรือไม่
- การแกว่งมือ ใช้เฉพาะข้อมือแกว่งเท่านั้นหรือไม่
- ช่วงกว้างของการแกว่ง : แกว่งไม้เท้านำหน้า ให้ปลายไม้เท้าสัมผัสพื้นทั้ง 2 ด้าน กว้างกว่าช่วงกว้างของลำตัวเล็กน้อยหรือไม่
- ความสัมพันธ์ของการก้าวเท้า และการแกว่งไม้เท้า : เวลาเดิน เมื่อก้าวเท้าซ้าย จะแกว่งให้ปลายไม้แตะพื้นทางด้านขวา และเมื่อก้าวเท้าขวา และแกว่งให้ปลายไม้เท้าแตะพื้นด้านซ้ายหรือไม่
- จังหวะการเดิน : เดิน และแกว่งไม้เท้าไปมาดังกล่าวตลอดเวลาหรือไม่

อย่างไรก็ดี เวลาพาลูกไปเดินเล่นนอกบ้าน เมื่อต้องการจะปล่อยลูกไว้ตามลำพัง พ่อแม่ไม่ควรปล่อยไว้ในที่โล่ง หรือใกล้ชิดสิ่งที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น หลุมบ่อ ฝาท่อที่เปิดไว้ และกองไฟ เป็นต้น แต่ควรปล่อยให้เข้าใกล้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ลูกสามารถสัมผัสได้ เช่น เก้าอี้ ผนัง ต้นไม้ หรือรั้วบ้าน เป็นต้น เพราะจะทำให้รู้สึกมีความปลอดภัยมากกว่า

ทั้งนี้ ก่อนที่จะไปไหน ควรบอกลูกให้ทราบก่อนทุกครั้ง เพราะไม่เช่นนั้น ลูกจะไม่ทราบว่า เขาอยู่คนเดียว และจะพูดคุยกับผู้นำทางเรื่อยไป ซึ่งเมื่อทราบภายหลังว่าพูดอยู่คนเดียว จะทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย และคิดว่าตัวเองเป็นคนโง่

ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000032333
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
นอนท่าไหน มดลูกเข้าอู่เร็ว
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ