ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
รถหัดเดิน ผลิตภัณฑ์อันตรายที่ไม่มีใครรู้
รถหัดเดิน ผลิตภัณฑ์อันตรายที่ไม่มีใครรู้ รถหัดเดิน เป็นอุปกรณ์ที่วางขายทั่วไปในห้างสรรพสินค้าและร้านของใช้เด็ก พ่อแม่ในสังคมไทยมีความเคยชินในการใช้เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วมักจะจัดหาให้เด็กเมื่อเด็กอายุประมาณ 5-6 เดือน ด้วยต้องการให้ลูกรักได้ออกกำลังกายและฝึกเดิน เด็กเองเมื่ออยู่ในรถหัดเดินจะสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลเกินกว่าพัฒนาการตามอายุ เด็กจะสามารถเรียนรู้สิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น เพลิดเพลินกับการเคลื่อนไหวไปไกลๆ หรือสนุกสนานกับการวิ่งชนกำแพง

อย่างไรก็ตาม ข้อดีเหล่านี้ได้ถูกแอบแฝงด้วยอันตรายซึ่งได้ถูกพิสูจน์แล้วในต่างประเทศ

ในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และขณะนี้บางรัฐในสหรัฐอเมริกาได้มีกฎหมายห้ามมิให้จำหน่ายรถหัดเดินแล้ว ขณะที่บางรัฐยังคงให้จำหน่ายได้ แต่ต้องมีคำเตือนอันตรายแก่ผู้ซื้อแต่ในบ้านเรายังหาซื้อได้อย่างเสรี โดยปราศจากคำเตือนจากผู้ผลิตและขาดคำแนะนำจากผู้มีหน้าที่ดูแลสุขภาพ

รถหัดเดินทำให้เดินเร็วได้จริงหรือ ?

เปล่าเลย ! ทำให้เด็กเดินช้าต่างหาก

เด็กเล็กที่อยู่ในรถหัดเดินเวลาจะเคลื่อนที่จะใช้ปลายเท้าจิกลงและไถไปข้างหน้า แต่เวลาเด็กเริ่มเดินจริงกลไกการเดินที่ถูกต้องจะใช้ส้นเท้าลงก่อน ดังนั้นเด็กที่อยู่ในรถหัดเดินนานหลายชั่วโมงต่อวัน เมื่อตั้งไข่ได้ดีแล้วจะก้าวเดิน เด็กจะใช้ปลายเท้าจิกลงซึ่งจะทำให้เดินไม่ได้หรือเดินเป๋ เพราะใช้ปลายเท้าในการเดิน

โดยทั่วไปเด็กที่อยู่ในรถหัดเดินหลายชั่วโมงต่อวันจะเดินได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ประมาณ 1-3 เดือน ในสิงคโปร์มีการวิจัยในเด็ก 185 คน พบว่าร้อยละ 10.8 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้

ที่เป็นผลเสียมากกว่านั้นคืออันตรายจากอุบัติเหตุ

จากการวิจัยพบว่าหนึ่งในสามของเด็กที่ใช้รถหัดเดินจะเคยได้รับบาดเจ็บจากรถหัดเดินในสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กบาดเจ็บจากรถหัดเดินต้องมารับการรักษาในห้องฉุกเฉินปีละกว่า 29,000 ราย !

อันตรายที่รุนแรงพบได้จากการตกจากที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้รถหัดเดินในบ้านที่มีหลายชั้น หรือบ้านที่ยกระดับมีใต้ถุนบ้านแล้วมิได้ทำประตูกั้นหน้าบันไดหรือทำประตูกั้นแต่เปิดได้สองทิศทางแล้วเกิดลืมใส่ล็อกไว้ การตกจากที่สูงจะนำไปสู่การบาดเจ็บกระดูกต้นคอบาดเจ็บ ศีรษะและเลือดออกในสมองทำให้เสียชีวิตได้

การพลัดตกหกล้มอีกแบบหนึ่งคือ การพลิกคว่ำจากพื้นที่มีความต่างระดับหรือเกิดจากการที่เด็กไถแรงเพื่อให้เคลื่อนที่เร็ว แล้วสะดุดกับวัสดุบางอย่างทำให้รถหัดเดินพลิกคว่ำ ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บศีรษะเลือดออกในสมอง การบาดเจ็บของใบหน้า หรือการหักของแขนขาได้

รถหัดเดินที่ราคาถูกซึ่งมักมีขนาดเล็กฐานไม่กว้างมีล้อเพียง 4 ล้อ โครงสร้างเปราะบาง จะเกิดการพลิกคว่ำได้ง่ายกว่ารถหัดเดินมาตรฐาน

การบาดเจ็บอีกชนิดหนึ่งที่รุนแรงคือบาดเจ็บจากน้ำร้อนลวก

เด็กบนรถหัดเดินจะเคลื่อนที่ได้ไกลและเร็ว เด็กจะวิ่งชนโต๊ะที่วางกาน้ำร้อนอยู่หรือวิ่งไปพร้อมกระชากสายไฟฟ้าของกาต้มน้ำ น้ำร้อนมักจะลวกเป็นพื้นที่กว้างตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงลำตัวและแขนขา บาดแผลความร้อนจะนำไปสู่การรั่วไหลของสารน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายทำให้เกิดภาวะช็อกได้

ผิวหนังที่ถูกความร้อนลวก ถ้าน้ำร้อนเกินกว่า 55 องศาเซลเซียส ใช้เวลาเพียง 30 วินาที จะเกิดการเสียหายของผิวหนังบริเวณนั้น ผิวหนังที่เสียหายลึกถึงชั้นใต้ผิวหนังจะเสียหายถาวร ถ้าเป็นพื้นที่กว้างต้องมีการนำเนื้อเยื่อมาปลูกใหม่ทดแทน

รถหัดเดินยังเป็นต้นเหตุให้ทำให้เด็กจมน้ำตายอีกต่างหาก

เด็กบนรถหัดเดินจะเคลื่อนที่เร็วและไกลรวมทั้งพ่อแม่คิดว่าปลอดภัยไม่ล้มทำให้เกิดการคลาดสายตาจากพ่อแม่ได้ง่าย ถ้าในบ้านที่มีสระว่ายน้ำหรือที่เก็บกักน้ำเช่นบ่อหรือแม้แต่ภาชนะในบ้านเช่นอ่างน้ำ ถังน้ำ กะละมัง หรือส้วมชักโครก เพียงเวลาไม่กี่นาทีที่เด็กคว่ำหรือตกลงในภาชนะเก็บกักน้ำทั้งหลายเด็กจะขาดอากาศทำให้เสียชีวิต หรือเกิดภาวะสมองตายได้ ยากเกินกว่าการแพทย์จะช่วยแก้ไขได้

นอกจากนั้นยังพบการบาดเจ็บไม่รุนแรง เช่น บาดแผลฟกช้ำดำเขียว หัวปูดหัวโน จากการกระแทกต่างๆ ของเด็กได้อีกบ่อยๆ

การป้องกันที่ถูกต้องคืองดใช้รถหัดเดิน !

จากหลักฐานการวิจัยที่ผ่านมาทั้งหมดเชื่อได้ว่า รถหัดเดินจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ 'มีประโยชน์น้อย แต่มีอันตรายมาก' ไม่คุ้มค่าในการใช้ ผู้ให้บริการสุขภาพทั้งหลายโดยเฉพาะกุมารแพทย์ และพยาบาล ควรช่วยกันเผยแพร่ความรู้นี้แก่ประชาชน

ผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบในการออกคำเตือนและแนะนำการป้องกันพร้อมไปกับการขายในกรณีที่ยังจะขายต่อไป หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคควรมีบทบาทกำกับดูแลเรื่องนี้รัฐบาลควรพิจารณาความเหมาะสมในการอนุญาตให้ขายได้ต่อไป

เด็กหนึ่งรายที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการใช้รถหัดเดินเกิดจากความไร้เดียงสาของเด็กเอง หรือเกิดจากความไม่ใส่ใจของพ่อแม่ หรือเกิดจากคุณหมอคุณพยาบาลที่ไม่ได้ให้คำแนะนำแก่พ่อแม่เมื่อมารับการตรวจสุขภาพ หรือมาจากกลไกตลาดที่ปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ไร้ประโยชน์แต่มีอันตรายยังคงซื้อขายกันได้

ใครคือผู้ผิด ?...ใครจะเป็นจุดเริ่มในการแก้ไข...

โดย ผศ.น.พ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
โครงการวิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก 
โรงพยาบาลรามาธิบดี 

ที่มา...หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 
ข้อมูลจาก : http://www.matichon.co.th
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล