ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
News
Share
ทีวีตัวร้าย ทำเด็กพัฒนาการช้า

ทีวีตัวร้าย ทำเด็กพัฒนาการช้า เจ้ากล่องสี่เหลี่ยมกินไฟชื่อ "ทีวี" เข้ามาขโมยเงินในกระเป๋าไม่พอ ยังอุกอาจทำกลมกลืน พอไว้ใจก็ถอดหน้ากากเป็นยักษ์ร้าย "ฉกลูก" ไปแบบไม่รู้ตัว

ในเมื่อเหรียญยังมีสองด้าน "ทีวี" ก็เช่นกัน ด้านหนึ่งมันเป็น "ฮีโร่" นำสารพันความรู้ประเทืองปัญญาให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มานมนาน แต่มันก็สามารถกลายร่างเป็น "สัตว์ประหลาด" ออกอาละวาดปั่นป่วนสมองและเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ด้วยเหมือนกัน

อันตรายของมันสามารถสร้างภาพลวงตา และทำคุณประโยชน์อเนกอนันต์ เราจึงหาข้อพิสูจน์หลักฐานเพื่อเอาผิดได้ยาก ถ้าเป็นผู้ต้องหา ทีวีคงโดนข้อหาหลายกระทง เริ่มจาก "ตัวกระตุ้นให้เด็กสมาธิสั้นทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย" และ "ตัวต้นเหตุอาการพูดช้า สมาธิสั้น และออทิสติก" 

มันยังโดนพ่วงข้อหาทำให้สมองของเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปีซึ่งเป็นช่วงที่สมองพัฒนาสูงถึง 3 ใน 4 ของการเจริญเติบโตทั้งหมดทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ "ทีวี" ก็ยังเป็นผู้ต้องหาปากแข็งและดื้อตาใส ที่มีความผิดเต็มประตู แต่ไม่มีใครกล้าจับเข้าซังเต

แพทย์หญิงอดิสร์สุดา เฟื่องฟู ลงความเห็นว่า หากเด็กดูทีวีนานกว่า 8 - 10 ชั่วโมงจะส่งผลให้พัฒนาการทางประสาทล่าช้า เพราะดูทีวีเป็นการทางสื่อสารทางเดียว ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ ขาดหาย สมองจึงเชื่อมโยงกันไม่สำเร็จและสมบูรณ์

หากปล่อยเด็กช่วงสมองกำลังพัฒนาไปนั่งเฝ้าหน้าจอนานเกินสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง อาจทำให้สมองซีกซ้าย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านภาษาและการใช้เหตุผลถูกเตะสกัดจนพูดไม่เป็นภาษา ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายด้วย เพราะการนั่งดูทีวีอยู่กับที่นานๆ มีโอกาสที่เด็กน้อยจะเป็นโรคอ้วน เบาหวานและคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ 

เราสามารถสรุปอันตรายของ “ยักษ์จอตู้” ได้มากมายเกินกว่าหนึ่งหน้ากระดาษ นอกเหนือจากโรคร้ายจากไลฟ์สไตล์ผิดแผกของคนยุคนี้แล้ว แสงจากทีวียังยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งมีโอกาสทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง กระบวนการเผาผลาญอาหารลดลง และเด็กมีโอกาสสายตาสั้นง่ายกว่าปกติ

ภาพทีวียังสะท้อนภาพสมองของเด็กได้ชัดเจน หนูน้อยติดทีวีอาจมีความผิดปกติทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษา การสื่อความหมายพฤติกรรม อารมณ์ และจินตนาการ เพราะขาดการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มีปัญหาในการนอน และขาดสมาธิ เนื่องจากการพัฒนาเซลล์สมองที่ควบคุมช่วงความสนใจบกพร่อง ตามด้วยปัญหาในการอ่าน เพราะขาดสิ่งกระตุ้นสติปัญญา ส่งผลให้พวกหนูๆมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ในวัยชรามากขึ้น

หากลูกของคุณสมาธิสั้น โปรดตั้งสังเกตเถอะว่า สาเหตุที่เด็กอยู่ไม่นิ่ง ก็เพราะสมองของเขาเคยชินกับการดูทีวี ทำให้เขาต้องทำหลายสิ่งให้ทันอัตราการรับรู้ของสมองเหมือนเวลาดูทีวีนั่นเอง ยิ่งจับเจ่านั่งดูทีวีนานมากเท่าใด มันก็จะยิ่งทำลายสุขภาพเทวดาตัวน้อยมากขึ้นและเร็วขึ้น

นอกจากนั้น มันยังแฝงอันตรายซ่อนเร้น ทำให้ลูกของคุณตกเป็นเหยื่อการโฆษณาได้อย่างแยบยล แถมยังทำให้เด็กๆ กลายเป็นนักแสดงจำเป็น เล่นได้ทุกบทบาทเพียงแค่เลียนแบบสิ่งที่เห็นในทีวีบ่อยครั้งเท่านั้น 

ทีวียังเป็นสิ่งเร้าที่มีฤทธิ์เดชรุนแรง และพร้อมพัฒนาสู่การเล่นวีดีโอเกมอย่างเมามันในอนาคต และกลายเป็นปัญหาสังคมให้เราต้องตามไปแก้ไม่รู้จบ ก่อนจะสายเกินแก้ไข พ่อแม่ควรรีบหาทางป้องกันไม่ให้ ยักษ์จอตู้ตัวร้าย คืบคลานเข้าใกล้ลูกของคุณมากกว่านี้

อัญญาอร พานิชพึ่งรัก สมาชิกมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และผู้ทำหน้าที่ยามเฝ้าจอตู้มาหลายปีแล้ว บอกว่า เด็กต่ำกว่า 2 ปีไม่สมควรจะดูทีวีเลย ฉะนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงไม่ควรวางทีวีไว้ในห้องนอนเด็ก และอย่าใช้ทีวีเป็นพี่เลี้ยงเด็ก

ที่สำคัญอย่าพึ่งพิงการจัดเรทติ้งของสถานีโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว มันยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสถานีอาจมีเหตุผลด้านโฆษณา รายได้มหาศาลและเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจก็เป็นได้ ข้อควรปฏิบัติของพ่อแม่ผู้ปกครองก็คือ ต้องแบ่งสัดส่วนมาดูแลลูก ครอบครัวควรมีส่วนร่วมเวลาลูกดูทีวี เพื่อจะได้สอดแทรกความรู้และแนะนำลูกได้ทันท่วงที

“ก่อนที่เด็กจะเข้าอนุบาลเด็กจะแยกความเป็นจริง - ไม่จริงไม่ได้ นั่นจึงเป็นหน้าที่ของเราต้องเลือกรายการให้ลูกดู และดูกับลูกด้วย ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมภายนอกได้ แต่เราสามารถให้คำอธิบาย หรือขอเสนอความคิดเห็นของลูกๆ ทดแทนได้”

นอกจากนั้น ยังต้องสร้างกฎเหล็กที่ทวีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยสูตร "สกัดจุดอ่อน แสวงจุดเหมือน สงวนจุดต่าง” 

แพทย์หญิงอดิสร์สุดา แนะนำการปฏิบัติตัวสองระดับ ขึ้นอยู่กับว่าลูกของคุณ เป็นเด็กติดทีวีหรือยัง หากเขาเป็นเช่นนั้นแล้ว เราไม่ควรจะห้ามเดี๋ยวนั้น เพราะเด็กคุ้นชินและเคยตัวจนเป็นนิสัย เขาจะไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่พ่อแม่สั่งห้าม

ตามด้วยวิธีลดทอนความเข้มงวด ให้ดูการ์ตูนได้ แต่ต้องผ่านการคัดกรองจากพ่อแม่แล้วหรือ เลือกการ์ตูนที่มีระดับการเคลื่อนไหวช้าแทน ตลอดจนทำตัวเป็นมอนิเตอร์ จดรายละเอียด ซึ่งต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ

ฉะนั้นจึงต้องอาศัยระดับที่สองมาช่วยด้วย นั่นคือ ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นในบ้าน อย่างเช่น "ลูกจะดูทีวีก็ได้ แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวันนะ" และกฎข้อที่สอง “บ้านเราจะปิดทีวีสัปดาห์ละ 2 วันนะลูก" หรือเปลี่ยนแสงทีวีเป็นจอมืดในขั้นตอนสุดท้ายเสียเลย

แต่ปัญหาของพ่อแม่ทุกคน คือ ไม่รู้จะแนะนำลูกอย่างไร 

คุณหมอคนเก่งแนะนำต่อว่า มือปราบยักษ์จอตู้หน้าใหม่สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยวิธีทำข้อตกลงระหว่างกัน ใช้ความรักความอบอุ่นในครอบครัวเป็นเงื่อนไข พร้อมสร้างบรรยากาศให้พ่อแม่เป็นต้นแบบ นั่นแปลว่า ผู้ใหญ่ก็จะต้องไม่ติดกับดักทีวีด้วยเช่นกัน

อีกโมเดลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ การเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ปลูกฝังรักการอ่าน เนื่องจากการดูทีวีเป็นการปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ลองเปลี่ยนเป็นการเล่านิทานก่อนนอน และนิทานวิเศษสุดก็คือนิทานที่พ่อแม่เล่าให้ลูกฟัง พ่อแม่สามารถเพิ่มความพิเศษจากการปิดไฟให้ลูกสนุกกับการฟัง กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แถมด้วยการใช้ลูกเป็นตัวละคร ซึ่งทีวีทำไม่ได้ และยังทำให้ลูกติดเราดีกว่าติดคนอื่นด้วย

เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่ยักษ์จอตู้จะกลืนกินลูกของคุณไปทั้งตัว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/9799
News Others
Promotion Credit Card in BBB55
Promotion Credit Card in BBB55
初回入場時登録
初回入場時登録
รายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ " Easy e-Receipt "
รายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ " Easy e-Receipt "
Sponsors
view all
Banner
view all