ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
News
Share
12 จุด...อันตรายรอบบ้านสำหรับลูก

12 จุด...อันตรายรอบบ้านสำหรับลูก ว่ากันว่า กว่าลูกจะโตนั้น พวกเขาต้องเจ็บ ต้องร้อง เพราะหัวโน มีบาดแผลตามแขน ตามขาบ่อยครั้งจนนับไม่ถ้วน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาจากการถูกทารุณกรรมหรอกนะคะ แต่กลับเป็นเพราะข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่อาจอยู่ไม่เป็นที่มีเหตุให้เด็กเดินชน หกล้มจนได้แผล หรือไม่ก็เจ้าตัวเล็กเป็นคนวิ่งเข้าไปหาเรื่องเจ็บตัวก็เป็นได้

เมื่อความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือประมาทเลินเล่อเป็นชนวนเหตุทำให้ลูกได้รับอันตรายแล้ว จากข้อมูลที่สำรวจเรื่องอุบัติเหตุภายในบ้านก็พบว่า ในแต่ละปีเด็กไทยบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุภายในบ้านด้วยสาเหตุสำคัญอันดับแรก คือ โครงสร้างบ้านและเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เช่น บันได ระเบียง พื้น ประตู หน้าต่าง โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกจากการจัดวางข้าวของเครื่องใช้และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญของการตายและบาดเจ็บของเด็ก โดยเกือบครึ่งหนึ่งของการตายด้วยอุบัติเหตุในเด็กนั้น มาจากสาเหตุการจมน้ำตาย ซึ่งเกิดขึ้นจากแหล่งน้ำในบ้าน เช่น กะละมัง ถังน้ำ อ่างน้ำ และแหล่งน้ำใกล้บ้าน เช่น ร่องน้ำ คูน้ำ บ่อน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี “เอกสารชุดเด็กไทยปลอดภัย โดยเครือข่ายวิจัยสุขภาพ” ได้รวบรวม 12 จุดที่ควรระวังอันตรายสำหรับเด็กเล็ก ดังนี้

1.เก้าอี้ โซฟา
เมื่อเด็กแรกเกิดเคลื่อนที่ได้จากการถีบขาดันสิ่งขวางกั้นต่างๆ ส่วนเด็กวัย 4-6 เดือนเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงายได้ เป็นเหตุให้เกิดการพลัดตกจากเตียง เก้าอี้ หรือโซฟา หากจำเป็นต้องวางเด็กบนที่สูงเพื่อหยิบผ้าอ้อม หรือเตรียมนม ต้องวางมือข้างหนึ่งบนตัวเด็กไว้เสมอ เพราะถ้าเด็กตกลงมา โดยเฉพาะยังไม่ถึงขวบจะยิ่งมีความอันตรายมากกว่าวัยอื่นๆ


2.เตียงเด็ก หรือเปล
เปลที่มีความห่างไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอันตรายจากดิ้นของเด็กจนศีรษะเข้าไปติดค้างได้ บางครั้งอาจติดค้างระหว่างริมเบาะที่นอนกับผนังเปล หรือเบาะที่นอนด้านที่ชิดกำแพงได้ มุมเสาทั้ง 4 ด้านของเปลที่ยกสูงขึ้นมา อาจเกี่ยวรั้งเสื้อผ้าของเด็ก และเกิดการแขวนรัดคอ จึงควรเลือกประเภทของเปลและจัดวางเบาะที่นอนให้เหมาะสมสำหรับเด็ก


3.เครื่องใช้ไฟฟ้าและของร้อน
เด็กทารกอายุ 3-5 เดือน จะเริ่มคว้าสิ่งของและกำมือได้ เด็กอาจปัดหรือคว้าของร้อนเหล่านั้น เด็กในวัยเดิน หรือวิ่งได้อาจเอื้อมคว้าสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำความร้อนและถูกความร้อนลวกได้ สิ่งที่พึงระวัง คืออย่าอุ้มเด็กขณะที่ถือของร้อน อย่าอุ้มเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป นั่งบนตักขณะมีของร้อนอยู่บนโต๊ะ เก็บสายไฟของกาน้ำร้อน อย่าให้ห้อยอยู่ต่ำในระดับที่เด็กสามารถดึงกระชากให้ล้ม


4.หน้าต่าง
หลายข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างเคยให้ความสนใจกับคดีสะเทือนขวัญเด็กวัยเตาะแตะพลัดตกลงมาจากหน้าต่างบ้าน ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นการฆาตกรรม แต่หารู้ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้ว เด็กวัยกำลังซนกับหน้าต่างนั้น เป็นสิ่งที่ควรระวังไม่แพ้อย่างอื่นเลยทีเดียว เพราะเด็กวัยนี้อาจปีนป่ายเฟอร์นิเจอร์ที่วางชิดหน้าต่าง และอาจพลัดตกลงไปได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรปิดหน้าต่างหรือมุ้งลวดให้สนิท ไม่วางเฟอร์นิเจอร์ในตำแหน่งที่ชิดกับหน้าต่าง


5.บันได
ตอนเด็กๆใครไม่เคยตกบันไดบ้าง? แม้จะบางคนอาจไม่เคย แต่เชื่อว่าหลายคนคงผ่านประสบการณ์ลูกมะนาวเต็มหัวสมัยเด็กๆอยู่ไม่น้อย ครอบครัวไหนมีบันไดไม่กี่ขั้นก็ดีไป แต่สำหรับบ้านที่มีหลายชั้น มีบันได 10 ขั้นขึ้นไปก็พึงระวังไว้ เพราะเด็กวัย 6-12 เดือน จะเริ่มเคลื่อนที่ได้ดีและเร็วขึ้นจากการกลิ้ง คืบคลาน เกาะเดิน และเดินได้เอง เมื่อเด็กเดินหรือวิ่งได้แล้วก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการตกบันได หกล้ม ชนกระแทก จึงควรตรวจสอบราวบันไดและระเบียงไม้ให้มีช่องห่างพอที่เด็กจะลอดได้


6.สัตว์เลี้ยงในบ้าน
เด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป มักสนใจสัตว์เลี้ยงต่างๆ ในบ้าน อาจถูกเลีย กัด ข่วน จากการจับ ดึง หรือแหย่สัตว์ได้ ไม่ควรปล่อยให้เด็กทารกอยู่ตามลำพังกับสัตว์เลี้ยง สอนเด็กไม่ให้รังแกสัตว์ เช่น ดึงหู ดึงหาง แย่งจานอาหาร ของเล่นสัตว์ และควรฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยง

7.ประตูห้อง
จัดว่าเป็นจุดอันตรายสำหรับเด็กวัยหัดคลาน หัดเดิน อาจถูกประตูหนีบมือได้ จึงควรจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันประตูหนีบมือ

8.ห้องน้ำและภาชนะใส่น้ำ
เด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 10 ปี มักเกิดจากการเผลอชั่วขณะ หรือความประมาทของผู้เลี้ยงดู ห้ามให้เด็กนั่งเล่นน้ำตามลำพังในอ่างน้ำ ระดับน้ำสูงเพียง 5 ซม. ก็อาจจมน้ำได้

พ่อแม่จึงควรกำจัดแหล่งน้ำที่ไม่จำเป็นในบ้านและละแวกบ้าน หรือกั้นรั้ว กั้นประตู ไม่ให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำได้ เช่น การเทน้ำในถังทิ้งไป การปิดฝาถังน้ำ การปิดประตูห้องน้ำ ปิดประตูหน้าบ้านหลังบ้านเพื่อไม่ให้เด็กคลานออกไปได้


9.ตู้ ชั้นวางของ โต๊ะวางทีวี
เด็กวัย 1 - 2 ปี มีความสามารถในการปีนป่าย ยืนบนเก้าอี้เพื่อหยิบของบนที่สูงได้ และหนึ่งในนั้นอาจเป็นสารพิษ โต๊ะวางสิ่งของเหล่านี้จึงควรวางบนพื้นราบ มั่นคง ไม่ล้มง่าย หรือควรยึดโต๊ะด้วยสายยึดกับกำแพง เฟอร์นิเจอร์ต้องไม่มีมุมคม หากมีควรใส่อุปกรณ์กันกระแทกที่มุมของทุกมุม


10.ประตู รั้วบ้าน
พ่อแม่และทุกคนในบ้านควรตรวจความมั่นคงของประตูให้ดี แล้วไม่ควรให้เด็กๆไปเล่นประตู ไม่ว่าจะเป็นการปีนป่านหรือโยกไปมา เพราะประตูอาจหลุดจากรางมาล้มทับเด็กได้


11.ห้องครัว
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม พ่อแม่ควรมีประตูกั้นเพื่อมิให้เด็กเข้าไปในบริเวณนั้นได้ และอย่าวางของร้อนบนพื้นและของมีคมในที่เด็กเอื้อมมือถึง


12.ปลั๊กไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้า
พ่อแม่ควรปิดที่เสียบปลั๊กไฟที่ไม่ได้ใช้ด้วยพลาสติกสำหรับปิด หรือติดตั้งกล่องครอบปลั๊กไฟ ต่อสายดินกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องซักผ้า และต่อเครื่องมือตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ

สำหรับบ้านที่มีเด็กเล็กทุกบ้าน...ขอให้ทุกคนนึกถึงประโยคที่ว่า “โปรดเก็บไว้ให้พ้นมือเด็ก” อยู่เสมอ มิเช่นนั้นความประมาทอาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกคืนได้อีกเลย


ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ
ภาพประกอบจาก : อินเตอร์เน็ต

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th
News Others
Promotion Credit Card in BBB55
Promotion Credit Card in BBB55
ลงทะเบียนเข้างานครั้งแรก
ลงทะเบียนเข้างานครั้งแรก
รายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ " Easy e-Receipt "
รายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ " Easy e-Receipt "
Sponsors
view all
Banner
view all