ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
5 เหตุผลที่ "สามี" ควรเข้ามาช่วยภรรยาเลี้ยงลูก
5 เหตุผลที่ "สามี" ควรเข้ามาช่วยภรรยาเลี้ยงลูก เมื่อพูดถึงบทบาท "พ่อ" หรือ "สามี" เรามักจะคุ้นเคยกันดีกับภาพ "มนุษย์ทำงาน" ไม่ใช่ "มนุษย์เลี้ยงลูก" แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน ผู้ชายและผู้หญิงมีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัวก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้ผู้หญิงมีบทบาททัดเทียมกัน ทำให้ผู้ชายต้องแสดงบทบาทความเป็นพ่อในการดูแล และพัฒนาลูกไปพร้อม ๆ กับคุณแม่ด้วย

ในโอกาสนี้ เพื่อให้คุณผู้ชายทั้งหลายเห็นคุณค่า และความสำคัญของบทบาทพ่อในการช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ทีมงาน Life & Family ได้สรุปความสำคัญของบทบาท "พ่อ" ในฐานะผู้ช่วยมือหนึ่งของคุณแม่ออกเป็น 5 เรื่องหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1. ช่วยลดภาวะซึมเศร้าให้แม่หลังคลอด

การปล่อยให้คุณแม่เลี้ยงดูลูกแรกคลอดแต่เพียงลำพัง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสภาพจิตใจของคุณแม่ท่านนั้นได้โดยไม่รู้ตัว เพราะในช่วงหลังคลอด ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงประกอบกับความเหนื่อยล้าที่ต้องให้นม และดูแลลูกตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้คุณแม่จำนวนไม่น้อยเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากปล่อยให้แม่ที่มีภาวะดังกล่าวเลี้ยงดูลูกแรกเกิด มีงานวิจัยจาก University of Reading ระบุว่า เด็กอาจมีโอกาสป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงตามไปด้วย ดังนั้นการมีคุณพ่อเข้ามาเป็นผู้ช่วย ไม่ว่าจะอุ้มลูก โอบกอด หรือนวดบำบัดความเมื่อยล้า เหล่านี้จะทำให้คุณแม่มีกำลังใจ และมีสุขภาพจิตที่ดี

2. ช่วยให้นมแม่ไหลออกมาได้ดี

ในช่วงระยะแรกหลังคลอด คุณแม่จะเหนื่อย และต้องปรับเวลาการให้นมลูกที่สมดุลซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก โดยเฉพาะความช่วยเหลือจากคุณพ่อในการช่วยดูแลลูก และแบ่งเบาภาระงานบ้านเพื่อให้คุณแม่มีเวลาให้นมลูกอย่างเต็มที่ เพราะถ้าหากพักผ่อนไม่เพียงพอ ประกอบกับมีภาวะเครียดด้วยแล้ว อาจส่งผลต่อกลไกการไหลของนมแม่ได้ เนื่องจากฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการให้นม (โพรแลคติน และออกซีโทซิน) ถูกความเครียดมาขวางทางไว้ ทำให้ผลิตน้ำนมออกมาได้น้อย ทางที่ดีคุณพ่อควรเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระเพื่อให้คุณแม่ได้มีเวลาพัก และไม่เครียด หรือกังวลในการเลี้ยงลูกมากจนเกินไป

3. เพิ่มความผูกพันพ่อ-ลูก

มีผลงานวิจัยชี้ชัดว่า คุณพ่อที่ได้อุ้มลูกตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ลูกลืมตาดูโลก พร้อมทั้งกอดสัมผัสอย่างรักใคร่ทะนุถนอม หรือได้ช่วยคุณแม่เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือแม้แต่จับนิ้วมือนิ้วเท้าลูกเล่น คุณพ่อคนนั้นจะมีความผูกพันกับลูกมากกว่าคุณพ่อที่พลาดโอกาสดังกล่าว ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่แม่ฝ่ายเดียวที่จะได้ใกล้ชิดลูกเพราะต้องดูแลลูกอ่อน คุณพ่อก็ทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องให้เวลาและความใส่ใจมากขึ้นเท่านั้น


4. หมดห่วงเรื่องพี่เลี้ยงใจร้าย

เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ร่ำรวยทางเทคโนโลยี และอยู่ในวงล้อของการแข่งขันที่ "เม็ดเงิน" และ"ปัญญา" คือ ตัวแปรสำคัญของความอยู่รอด ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านต้องทำงานหาเงินจนแทบไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก ทำให้ต้องพึ่งพี่เลี้ยงให้เข้ามาช่วยดูแลลูกแทน แต่หลายครั้งเรามักจะพบเห็นข่าวพี่เลี้ยงทุบตี หรือทำร้ายเด็กกันอยู่บ่อย ๆ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจผู้เป็นพ่อแม่อย่างมาก ดังนั้น เพื่อลดปัญหาดังกล่าว คุณพ่อควรจัดสรรเวลามาช่วยคุณแม่เลี้ยงลูกบ้าง ถ้าไม่มีเวลาด้วยกันทั้งสองฝ่าย ควรมองหาคนที่ไว้ใจได้มาช่วยดูแลแทน เช่น พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องในครอบครัว เป็นต้น

5. เป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูก

พฤติกรรมของ "คุณพ่อ" มีส่วนสำคัญสำหรับลูกไม่แพ้คุณแม่ เนื่องจากเด็กจะมีการเรียนรู้ จดจำ หรือเลียนแบบทั้งทัศนคติ และการมองโลกของคุณพ่อ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ลูกเรียนรู้การแยกแยะความแตกต่างของคนแต่ละคนที่พบเจอในอนาคต เมื่อคุณพ่อเล่นกับลูก ลูกจะได้รับรู้ถึงบุคลิกที่อบอุ่นเข้มแข็ง แตกต่างจากคุณแม่ที่อ่อนหวานอ่อนโยนมากกว่า และเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ภาพของคุณพ่อที่ดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุข เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี มีการให้เกียรติ และช่วยเหลือคุณแม่ในการทำงานบ้านก็จะติดตาติดใจ ทำให้พวกเขาเติบโตเป็นพ่อแม่รุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึก และดำเนินชีวิตครอบครัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ถึงแม้จะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 ข้อ 20 ที่อนุญาตให้สามีลาไปช่วยภรรยาที่คลอดบุตรครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2555 แต่ถ้าผู้ชายยังขาดจิตสำนึก และไม่เห็นความสำคัญของการเป็น "พ่อ" ก็คงยากที่สถาบันครอบครัวจะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

ขอบคุณภาพประกอบจาก visualphotos.com
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย