ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
กอดของแม่ช่วยชีวิตลูกได้/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

กอดของแม่ช่วยชีวิตลูกได้ / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ข่าวต่างประเทศชิ้นหนึ่งสร้างความมหัศจรรย์น่าทึ่งยิ่งนัก

นางเคต อ๊อกก์ แม่ชาวออสเตรเลียได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยของเธอที่ชื่อ เจมี่ หนึ่งในลูกชายฝาแฝดของเธอเมื่อ 5 เดือนก่อน ว่าเธอได้ให้กำเนิดลูกฝาแฝดหญิงชายก่อนกำหนด โดยขณะนั้นเธอตั้งครรภ์ได้เพียง 6 เดือนครึ่ง ฝาแฝดหญิงคนพี่ลืมตาดูโลกก่อนชื่อ เอมิลี่ จากนั้นเจมี่คนน้องก็คลอดตามออกมา แต่หลังผ่านไป 20 นาที หัวใจของเธอก็แทบสลาย เมื่อแพทย์แจ้งว่าเจมี่ได้เสียชีวิตลงแล้ว และไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ จากนั้นนางพยาบาลได้นำเจมี่ มาให้เธอได้เห็นหน้า และร่ำลากันเป็นครั้งสุดท้าย

นางเคต อ๊อกก์ และ นายเดวิด อ๊อกก์ สามีของเธอกอดลูกเพื่อร่ำลาแต่ความรักของแม่ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เธอเปิดเสื้อของเธอออกแล้วอุ้มลูกชายมากอดไว้แนบอกด้วยความอาลัย จากนั้นก็ร่ำไห้และพร่ำบอกความรู้สึกของเธอตลอดเวลา เธอทำอยู่ราว 2 ชั่วโมง เด็กน้อยเจมี่ กระดิกนิ้วน้อยๆ ของเขาแล้วจับมือเธอเอาไว้ทั้งยังลืมตาขึ้นและขยับหัวไป-มาราวกับปาฏิหาริย์จนเธอและสามีถึงกับอึ้ง

แม้กระทั่งแพทย์ที่ทำการคลอดยังเข้ามาจับศีรษะของเจมี่ เขย่าเบาๆ ด้วยความตกตะลึง

สำหรับเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้น แพทย์ได้ทำการวินิจฉัยแล้วคาดว่าสิ่งที่ทำให้เจมี่กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง เป็นเพราะความอบอุ่นที่ได้รับจากอ้อมกอดของแม่ที่ถ่ายทอดความรักและอ้อมไออุ่น เพราะการกอดลูกไว้แนบอกของ นางเคต อ๊อกก์ นั้น คล้ายกับการนำเด็กไปเข้าตู้อบแต่สิ่งที่เยี่ยมกว่านั่นคือเป็นสัมผัสจากไออุ่นของแม่ที่มีต่อลูกอย่างแท้จริง

ปัจจุบันเจมี่และเอมิลี่ มีอายุ 5 เดือนแล้ว ได้รับการดูแลอย่างดีจากพ่อแม่ที่สร้างปาฏิหาริย์ให้เขา เรื่องนี้ถูกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสถานีโทรทัศน์ sky news ซึ่งสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก

แม้จะดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ..ถึงปาฏิหาริย์ครั้งนี้ แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นจากความรักของแม่อย่างแท้จริง

ในทางการแพทย์ไม่อาจตอบเรื่องวิทยาศาสตร์ได้ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ในความเป็นแม่ความรัก ความผูกพันระหว่างแม่ลูก สัญชาตญาณระหว่างแม่ลูกเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ไม่ต้องการคำตอบ

การโอบกอดเป็นสัมผัสที่ดีแต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าสามารถใช้เป็นวิธีการเยียวยาผู้ป่วยได้โดยมีการนำการสัมผัสด้วยการกอดมาใช้ในหน่วยงานทางการแพทย์ใหญ่ ๆ ในต่างประเทศหลายแห่งมากว่า 20 ปีแล้ว และยังมีศูนย์ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการสัมผัสอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อการนี้อีกด้วย

วิธีการก็คือ การใช้สัมผัสถ่ายทอดกำลังใจ ความรัก ความอบอุ่น ความห่วงใยไปสู่ผู้ป่วย ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีใช้ยาที่มีประสิทธิภาพซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้นและมีกำลังใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย

Dolores Krieger R.N. Ph.D. ผู้เชี่ยวชาญในสาขาการบำบัดด้วยการสัมผัสแห่ง New York University จากสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวว่า บุคคลที่ได้รับการกอด หรือกอดผู้อื่น จะทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของฮีโมโกลบิน ทำให้การลำเลียงของออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างทั่วถึงทำให้สดชื่น มีชีวิตชีวา 

ในขณะที่ประเทศอินเดียก็มีศูนย์รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตใจโดยเฉพาะในการรักษาผู้ป่วยจิตเภทด้วยการโอบกอดโดยจัดหาอาสาสมัครที่จะมาบำบัดผู้ป่วยที่เป็นเพศเดียวกันกับผู้ป่วยเนื่องจากผู้ป่วยจิตเภทจะมีลักษณะของพฤติกรรมถดถอย จึงนำวิธีการรักษาที่เป็นธรรมชาติมาใช้ ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยเด็กวัย 2 ขวบร้องไห้ก็จะมีอาสาสมัครนำเด็กมานั่งตัก แล้วโอบกอดไว้นับเป็นการช่วยเหลือที่ง่ายที่สุดแต่ได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ เรียกว่าไม่ต้องอาศัยหลักการใดๆให้ยุ่งยาก

นักบำบัดจิตวิทยาครอบครัวเคยกล่าวว่า คนเราต้องการการกอดวันละ 4 ครั้ง เพื่อการดำรงชีวิต กอดวันละ 8 ครั้ง เพื่อการดำเนินชีวิต และกอดวันละ 12 ครั้ง เพื่อการเจริญเติบโต

หันมามองบ้านเรา เรื่องการโอบกอดยังดูเป็นเรื่องเคอะเขินและน่าอายอยู่อีกมากแม้จะดีขึ้นกว่าในอดีต แต่การโอบกอดก็ยังถูกมองว่าไม่ควรทำในที่สาธารณะโดยเฉพาะเพศตรงข้ามถ้ากอดกันก็จะมองเป็นเรื่องชู้สาวซะมากกว่า ในขณะที่พ่อแม่ที่กอดลูกส่วนใหญ่ก็จะโอบกอดเฉพาะเมื่อยู่ในวัยเด็กเล็กเท่านั้น พอเริ่มโตก็ค่อยๆ หายไปเพราะคิดว่าลูกโตแล้วไม่จำเป็นต้องกอดอีก ทั้งที่จริงเราควรโอบกอดเขาหรือเธอตลอดไปเพื่อแทนความรู้สึกแห่งรักที่ยิ่งใหญ่ถ่ายทอดทุกสิ่งอย่างผ่านการกอด

จะว่าไปแล้ว หลายครั้งในชีวิตปัญหาเรื่องหนักๆ ที่เกิดขึ้น เราพยายามแสวงหาทางแก้มากมาpเมื่อลูกผิดพลาดเราอาจพยายามคิดหาหนทางในการแก้ปัญหาโดยลืมที่จะใช้หัวใจรักของแม่ในการแก้ปัญหา

ปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากมายสามารถแก้ไขด้วยความรัก และการโอบกอดของแม่ 

ไม่มีหลักการใดในการอบรมสั่งสอนลูกได้ดีเท่าการถ่ายทอดทางสัมผัสรักระหว่างพ่อแม่ลูก 
สร้างวัฒนธรรมการกอดให้เริ่มจากครอบครัวกันเถอะ

ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000129008
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย