ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
ลูกหาย!!! ภัยร้าย ที่พ่อแม่อาจคาดไม่ถึง

ลูกหาย!!! ภัยร้าย ที่พ่อแม่อาจคาดไม่ถึง "อย่าออกไปนะลูก เดี๋ยวถูกจับไปเรียกค่าไถ่นะ"
"อย่าเที่ยววิ่งเล่นซนไปนะลูก จับมือพ่อไว้ เดี๋ยวหลงแล้วจะหาไม่เจอ..."

แน่นอนว่าหลายคนคงได้ยินประโยคเหล่านี้ตอนเด็กๆจากพ่อแม่ หรือไม่ก็มักพูดกับลูกอยู่บ่อยครั้งเมื่อลูกวิ่งซนในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเหตุกาณ์การกลักพาตัวเด็กนั้น อาจเป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนต่างพากันระวัง และไม่มีใครคาดคิดว่าโอกาสเสี่ยงแม้น้อยนิดก็อาจเกิดขึ้นกับครอบครัวตัวเองก็เป็นได้ ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมาเหตุกาณ์เลวร้ายแบบนี้จะไม่ได้เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวันเหมือนข่าวอื่น แต่ระดับความรุนแรงและอันตรายของมันก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

อย่างไรก็ดี อัญณิกา กฤษสมัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า กรณีเด็กถูกล่อลวงหรือลักพาตัวไปขาย นับเป็นภัยร้ายซึ่งเริ่มคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเราทุกที จากการใช้วิธีการในรูปแบบเดิมๆ คนร้ายเริ่มหาวิธีการกลยุทธ์ ล่อหลอกในรูปแบบใหม่ ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองอาจคาดไม่ถึง ซึ่งเรื่องนี้ พ.ต.อ.(หญิง) พัชรา สินลอยมา หัวหน้าคณะวิจัยโครงการจัดหาความรู้ด้านการสืบสวนติดตามคนหายในประเทศไทย เผยว่า จากการเปรียบเทียบสถิติการรับแจ้งเหตุคนหายตั้งแต่ปี 2546-2552 พบว่ามีจำนวน 1,527 คน แยกเป็นชาย 523 คน หญิง 1,004 คน โดยในจำนวนดังกล่าวมีการแจ้งว่าพบตัวแล้ว 954 คน ยังคงอยู่ในระหว่างการค้นหาอีก 573 คน

สิ่งที่น่าตกใจคือ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการถูกล่อลวงทางเพศ ซึ่งมีทั้งเพศชายและเพศหญิงโดยจะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 8-17 ปี ส่วนผู้สูญหายที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 8-11 ปี นั้นมีจำนวนเด็กผู้ชายสูงกว่าเด็กผู้หญิง เนื่องจากผู้ปกครอง เชื่อว่าเด็กผู้ชายไม่ค่อยมีอันตรายเท่าเด็กผู้หญิง ขณะที่กลุ่มมิจฉาชีพซึ่งก่อเหตุหลอกลวงและลักพาตัว ไม่จำกัดเพศของเด็กในวัยดังกล่าว แต่กลุ่มเด็กผู้หญิงก็ยังคงเป็นที่ต้องการของกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งตลาดค้าบริการทางเพศ ตลาดค้าแรงงาน รวมไปถึงการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ซึ่งเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา เล่าว่า แนวโน้มของผู้สูญหายซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 11-17 ปีนั้น มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมชอบเล่นเกม อินเทอร์เน็ต การแชตออนไลน์หาคู่ และเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีปัญหาการ ขาดความดูแลเอาใจใส่ ผลคือเด็กมีพฤติกรรมเก็บตัว มีโลกที่แคบ ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

ยิ่งไปกว่านั้น อีกปัญหาที่กำลังมาแรงคือ เด็กเต็มใจหนีออกจากบ้านเอง โดย เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา เล่าว่า จากการติดตามทำให้พบว่าเด็กมีแนวโน้มสมัครใจหนีออกจากบ้านมากขึ้น โดยใช้ช่องทางการชักจูงทางอินเตอร์เน็ตที่เด็กเข้าไปแชตออนไลน์หากัน คือบางเว็บไซต์มีการตั้งกระทู้ "จะหนีออกจากบ้านกันไหม" มีการแชร์ประสบการณ์การหนีออกจากบ้าน และมีเด็กเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากก่อนขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ก็ต้องป้องกันด้วยตัวเอง มีวิธีล้อมคอกก่อนวัวหาย เอ้ย! ลูกหาย มาแนะนำ โดย สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เล่าว่า การที่เด็กถูกลักพาตัว มักจะเกิดจากปัจจัยหลักประการเดียว คือจากการปล่อยปละละเลยทอดทิ้งไม่ดูแลเอาใจใส่ตามที่ควรจะเป็น และไม่ได้จัดพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็ก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การลักพาตัวเด็กกระทำได้สะดวกง่ายดาย ส่วน กฎ 5 ข้อ ป้องกันเด็กพลัดหลงมีดังนี้

1. ควรจัดพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับลูกแต่ละวัย ถ้าเด็กออกนอกโซนที่กำหนดไว้ ต้องตามกลับมา

2.ถ้าไม่จำเป็น อย่าพาเด็กไปในที่ชุมชนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ หรืออาจเตรียมตัวด้วยการเขียนชื่อที่อยู่หมายเลขโทรศัพท์ไว้กับตัวเด็ก

3. ต้องทำความเข้าใจกับเด็กว่า ถ้าหลงทางอย่าเคลื่อนที่ไปที่ไหน

4.ถ้าเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ ต้องจูงมือไว้เพื่อไม่ให้หลุดหลงกัน

5. อย่าปล่อยเด็กอยู่ตามลำพังเป็นอันขาด

ข้อแนะนำต่างๆ เบื้องต้นเป็นสิ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถกระทำได้ง่ายๆ เพียงเอาใจใส่เพิ่มขึ้นอีกนิดเท่านั้น แต่เดี๋ยวก่อน! อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ ขอเตือนให้ระวังภัย คนใกล้ตัวลักพาเด็ก ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นภัยร้ายที่ใครก็คาดไม่ถึง ซึ่งเรื่องนี้ สรรพสิทธิ์ บอกว่า สาเหตุเกิดมาจาก ประการแรก ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจ บางคนไม่สามารถมีลูกได้ ประการที่สอง พวกที่ต้องการใช้เด็กต่อรองกับผู้ปกครอง บางรายถึงขั้นลักพาเด็กไปฆาตกรรมเลยก็มี ประการที่สาม พวกที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก อาจจะนำเด็กไปขายต่อ หรือใช้เด็กให้เด็กช่วยทำงานหรือไปกระทำเรื่องผิด หรือกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อเด็กอย่างต่อเนื่องยาวนาน

อย่างไรก็ตาม หากระวังและป้องกันอย่างดีแล้วแต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ยังเกิดขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผ.อ.ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ก็มีคำแนะนำมาบอกอีกด้วยว่า ควรทำอย่างไรเมื่อเด็กถูกลักพาตัว นั้นคือจุดแรกที่สำคัญและต้องทำทันทีคือ ต้องรีบตรวจสอบให้เกิดความกระจ่างว่าจริงๆแล้วเด็กหายตัวไปหรือไม่ ถ้าตรวจสอบพบแล้วว่าเด็กหายไป ต้องไปติดตามข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้พบตัวเด็กเป็นคนสุดท้ายและรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับจุดที่พบเด็กครั้งสุดท้าย รายละเอียดเกี่ยวกับเด็กและบุคคลที่คาดว่าน่าจะพาตัวเด็กไปมากที่สุด ยื่นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อสำคัญคือภาพถ่าย เสื้อผ้า ลักษณะของใช้ รวมทั้งลักษณะเฉพาะของเด็ก ไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตา แต่อาจจะมีจุดบางจุด เช่นเป็นเด็กที่สวมเครื่องแต่งตัวแบบไหน สวมรองเท้าแบบไหน ทรงผมเป็นอย่างไร ถ้ามีภาพถ่ายด้วยจะดีมาก

หากมีภาพเด็กแล้ว ก็ต้องเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทันที โดยเฉพาะโทรทัศน์ ซึ่งบางช่องยินดีให้ความช่วยเหลือโดยไม่คิดเงิน สถานีวิทยุจะมีส่วนช่วยเหลือได้มากโดยเฉพาะคลื่นจราจร เช่น ส.ว.พ. (91 MHz) คลื่นร่วมด้วยช่วยกัน 96 MHz จ.ส.ร้อย (100 MHz) หรือชมรมวิทยุอาสาสมัครต่างๆ ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู โดยเฉพาะชมรมวิทยุแท็กซี่ จะมีโอกาสรับส่งผู้โดยสารที่เป็นคนร้าย ต้องเผยแพร่โดยเร็วที่สุด หรืออาจขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเฉพาะซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงาน เช่นกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นต้น

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าทุกครั้งของการตามตัวเด็กกลับมาสู่อ้อมอกของพ่อแม่ได้นั้น มาจากการให้เบาะแสจากประชาชนในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ หรืออยู่ในสถานที่วิ่งเล่น ก่อนจะหายตัวไป หากเรามาร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนให้เข้มแข็ง ผู้ใหญ่ในชุมชนเมื่อเห็นเด็กกำลังก้าวเดินไปในทางที่ผิด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือร่วมเฝ้าระวังภัยจากการลักพาตัวเด็กหรือล่อลวงเด็กไปเพื่อกระทำการทารุณกรรม หากทำสำเร็จในอนาคตอาจจะไม่ต้องมีครอบครัวใดต้องเสียน้ำตาอีกก็เป็นได้


ที่มา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย